Skip to main content

ผลสำรวจเผย เด็กและเยาวชนไทย 1 ใน 3 ไม่แน่ใจว่าหลักสูตรของโรงเรียนปัจจุบันจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในอนาคตของพวกเขา รวมถึงไม่แน่ใจว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ผลสำรวจเผยด้วยว่า มีเด็กและเยาวชนไทยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTIQ+ นอกจากนี้ ปัญหาการบุลลีทางออนไลน์เป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนไทยเผชิญอยู่ในระดับรุนแรง และมีความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน

การสำรวจดังกล่าวอยู่ใน รายงานสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2566 จัดทำโดย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ โดยรวมรวมความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนผ่านการจัดทำแบบสำรวจออนไลน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 33,580 คน ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และการจัดเวทีสมัชชาเด็กและเยาวชนในวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2566 ผลการสำรวจโดยสรุป พบว่า

  • เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นด้วยว่าหลักสูตรของโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง เมื่อถามว่าหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือโลกอนาคต หนึ่งในสามหรือร้อยละ 33 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 7 รู้สึกไม่เห็นด้วย
  • เด็กและเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 ไม่แน่ใจหรือไม่คิดว่าโรงเรียนปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โดยร้อยละ 26 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจว่าโรงเรียนของพวกเขาเป็นสถานที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชนทุกคน และอีกร้อยละ 7 สะท้อนว่าโรงเรียนยังไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยหรือเป็นมิตรกับทุกคน
  • ร้อยละ 7 ของเด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามสะท้อนว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่ม LGBTIQ+ ตอบข้อนี้มากที่สุดถึงร้อยละ 18 หรือเกือบ 3 เท่าของค่าเฉลี่ย นอกจากนี้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะไปขอรับบริการสุขภาพจิตได้ที่ไหน  
  • ร้อยละ 55 ของเด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามมองว่า การกลั่นเเกล้งเเละล้อเลียนทางอินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาความรุนแรงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือปัญหาการพนันออนไลน์ (ร้อยละ 44) เเละอันดับที่สามคือการติดเกม (ร้อยละ 32) นอกจากนี้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะไปขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนหากประสบปัญหาในโลกออนไลน์
  • เด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา และนำเสียงของพวกเขาไปพิจารณาอย่างจริงจังมากนัก โดยให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 จาก 10 คะแนน

     

ในเวทีสมัชชาเด็กและเยาวชน ได้จัดทำรายงานมติสมัชชาและข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชน ใน 6 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วม เศรษฐกิจ และความรุนแรง ดังนี้

  • ประเด็นเศรษฐกิจและการมีงานทำ จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบในด้านรายได้และเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของครอบครัว
  • ประเด็นการศึกษา การเข้าถึงหลักสูตรของโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน และบางหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่เด็กและเยาวชนควรมีส่วนร่วมในการวางแผนการศึกษา
  • ประเด็นสุขภาพ ปัญหาทางด้านอารมณ์และปัญหาทางด้านจิตใจ และยังขาดการเข้าถึงของหน่วยงานของรัฐที่จะให้ข้อมูลหรือคำปรึกษา  
  • ประเด็นความรุนแรง การกลั่นแกล้ง การล้อเลียน การใช้ความรุนแรงทางโลกออนไลน์หรือภัยรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทผู้รับผิดชอบในการดูแลเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์
  • ประเด็นสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างมาก
  • ประเด็นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา และนำเสียงของพวกเขาไปพิจารณาอย่างจริงจังมากนัก

ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอมติดังกล่าวซึ่งรวบรวมสถานการณ์ปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา