Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

ในหนังสือเด็ก ‘อาหาร’ มักแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือกลุ่มมิตรสหาย เนื่องจากอาหารเป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้คน

ทุก "เวลาและพื้นที่" ที่เกี่ยวข้องกับอาหารในบ้านของตัวละครเด็ก จึงมีคุณค่าสำหรับตัวละครดังกล่าวเสมอ การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นวิถีปฏิบัติที่พบได้ในหลายวัฒนธรรม มนุษย์มิได้กินเพื่อมีชีวิตรอดเท่านั้น แต่ยังกินเพื่อความสุขจากรสชาติและสานสัมพันธ์กับผู้คนในวงสังคมเดียวกันอีกด้วย

นับแต่โบราณกาล ‘โต๊ะอาหาร’ และ ‘ห้องอาหาร’ มักเป็นสถานที่สำหรับการพบปะ แบ่งปัน และแลกเปลี่ยน ‘โต๊ะ’ จึงมิได้มีหน้าที่เป็นเพียงที่วางอาหารและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานเท่านั้น แต่เป็นสถานที่รวมผู้คนที่มีกิจธุระหรือความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันให้มาสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างรับประทานอาหาร

ตั้งแต่ยุคโบราณ การรับประทานอาหารคนเดียวถือเป็นสิ่งที่ผิดจารีต และผู้ที่รับประทานอาหารคนเดียวมักถูกมองว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับวิถีการกินทั้งสิ้น เช่น Diogène Laërce ได้บันทึกใน Vies, doctrine et sentences des philosophes illustres ว่า นักปราชญ์ Diogène de Sinope ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาลและมีพฤติกรรมการ "แทะกระดูกราวกับสุนัข" จึงมักนั่งแยกจากผู้อื่นบนโต๊ะอาหาร

หรือกรณีของ Lucullus นักรบชาวโรมันผู้ถูกขับออกจากวงสังคมของตนเมื่อวางมือจากการรบ จึงไม่มีผู้ร่วมโต๊ะอาหารเหมือนเช่นครั้งยังรุ่งเรือง แต่ก็ยังสั่งให้พ่อครัวทำอาหารปริมาณเท่ากับเมื่อครั้งมีแขกเหรื่อ จนเกิดคำกล่าวอันโด่งดังว่า "เย็นนี้ ลูคูลุสจะรับประทานมื้อเย็นที่บ้านของลูคูลุส"

รวมถึงนักพรตในหลายศาสนาที่มีวิถีการบริโภคต่างจากมาตรฐานสังคม ทำให้ไม่สามารถร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่นได้ เช่น การจำกัดประเภทอาหาร การอดอาหาร การกินอาหารเน่าบูด เป็นต้น

การนั่งร่วมโต๊ะอาหารจึงถือเป็นขนบในการเข้าสังคม วัฒนธรรมตะวันตกมองว่า การพูดคุยระหว่างรับประทานอาหารร่วมกันเป็นวิธีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกร่วมโต๊ะที่มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวได้ถูกนำเสนอในวรรณกรรมเยาวชนมาโดยตลอด ผ่านฉากการรับประทานพร้อมหน้าในครอบครัวและในกลุ่มมิตรสหาย ตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนที่จำต้องรับประทานอาหารคนเดียวมักเป็นทั้ง ‘ตัวละครชายขอบของสังคม’ ที่ตนอยู่และมีพฤติกรรมการกินที่ผู้อื่นไม่ยอมรับ

ถึงกระนั้นตัวละครเหล่านี้จะถูกนำกลับเข้ามาในสังคมอีกครั้งโดยตัวละครอื่นที่เข้ามาผูกมิตร และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่น

 


หนังสือภาพเรื่อง L'ami du petit tyrannosaure (2003)

 

ตัวละครไดโนเสาร์ถูกขับออกจากสังคมสัตว์ป่าและต้องหาอาหารกินตัวเดียวอยู่เสมอ เนื่องจากคอยไล่กินสัตว์อื่น ๆ ตลอดเวลา จนกระทั่งหนูตัวหนึ่งซึ่งมีพลังวิเศษป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกิน มาสอนไดโนเสาร์ทำขนมเค้ก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกินสัตว์ตัวอื่นในป่าอีก หลังจากนั้นไดโนเสาร์จึงมีเพื่อนและยังแบ่งขนมเค้กให้สัตว์อื่นในป่าได้อีกด้วย

 


 

 


 

 

หนังสือภาพเรื่อง Monsieur Colibri (2015)

 

ที่ตัวละครเอกมีลักษณะทางกายภาพต่างจากนกฮัมมิงเบิร์ดปกติ จนทำให้สัตว์อื่นในป่าไม่กล้าเข้าใกล้ แต่คุณฮัมมิงเบิร์ดพยายามสร้างมิตรภาพ เขามอบดอกไม้ให้คุณหมี แกว่งชิงช้าให้คุณเป็ด ทั้งสองจึงไปพูดกับสัตว์ตัวอื่น ๆ ในป่าว่าคุณฮัมมิงเบิร์ดเป็นนกที่น่ารักเหลือเกิน

สัตว์ทุกตัวจึงจัดงานเลี้ยงต้อนรับและรับประทานขนมร่วมกันในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งการแบ่งปันและยอมรับขนมรวมถึงการรับประทานขนมด้วยกันในทั้งสองเรื่องนี้หมายถึงการสานสัมพันธ์และยอมรับตัวละครชายขอบเข้าสู่สังคม 
 

 

คุณฮัมมิงเบิร์ดเดินทางมาถึงป่าใหญ่ มัวแต่วุ่นวายกับการจัดของ เลยไม่ทันสังเกตว่ามีสัตว์ทั้งหลายมาแอบดูมันอยู่

 

คุณนกฮัมมิงเบิร์ดพบคุณหมีผู้ชอบน้ำผึ้ง ก็เลยไปช่วยคุณหมีเก็บน้ำผึ้ง จนเป็นเพื่อนกัน


นอกจากนี้ เวลาร่วมโต๊ะอาหารยังเป็นเวลา “พูดคุยปรึกษา” สำหรับสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
 

หนังสือการ์ตูนเรื่อง Seule à la récré (2017) ซึ่งนำเสนอประเด็น 'การกลั่นแกล้งในโรงเรียน' ได้สร้างภาพคู่ตรงข้ามระหว่างโต๊ะอาหารที่โรงเรียนและบ้าน ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักกับผู้คนในสถานที่สองแห่ง

เนื่องจากตัวละครหลักถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นที่มีลักษณะเป็น "ผู้มีอำนาจ" ในชั้นเรียน เพื่อนคนอื่นก็ไม่กล้าผูกมิตรด้วยเพราะเกรงจะถูกกลั่นแกล้งเช่นเดียวกัน ตัวละครหลักจึงต้องนั่งรับประทานอาหารเที่ยงคนเดียวในโรงอาหารบนโต๊ะสำหรับ 4 ที่นั่ง และเพื่อนนิสัยเกเรผู้นั้นก็เข้ามารังแกทันที ในขณะที่ในบ้านของตัวละครมีโต๊ะสำหรับ 4 ที่นั่งเช่นกัน แต่สมาชิกในบ้านนั่งรับประทานอาหารพร้อมหน้าจนไม่เหลือที่ว่าง

ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในครอบครัวทำให้ช่วงมื้ออาหารเป็นเวลาสำหรับปรับทุกข์ที่ตัวละครหลักสามารถเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ครอบครัวรับรู้และหาวิธีแก้ปัญหา

ตัวละครเด็กเกเรชื่อกลาริสกำลังแกล้งตัวละครหลักพร้อมกำชับว่า "ห้ามเล่าให้ใครฟังเชียวนะ!"



ตัวละครพ่อแม่แสดงความห่วงใยและพร้อมแก้ไขปัญหาทันที โดยทั้งสองคุยกันว่า 

"ทนไม่ไหวกับเด็กที่ชื่อกลาริสนี่แล้วนะ" 

"เดี๋ยวสี่โมงครึ่งเราจะไปเจอพ่อแม่เขาที่หน้าประตูโรงเรียน ต้องคุยกับพวกเขาให้รู้เรื่องแล้ว!"


จะเห็นว่าการได้รับการยอมรับในวงรับประทานอาหารนั้น สำคัญกับตัวละครในหนังสือเด็กมาก เพราะเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อน ในโลกความเป็นจริงที่เด็กอาจไม่มีเพื่อนอย่างหนูวิเศษหรือคุณหมี ที่จะพาเขาร่วมวงกินข้าวกับคนอื่นๆ

หากครอบครัวใดพอจะมีเวลาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่มารับประทานอาหารด้วยกันบ้าง ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญกับช่วงเวลารับประทานอาหาร พูดคุยถามไถ่เรื่องราวชีวิตประจำวันของสมาชิกในโต๊ะ สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเพื่อให้ทุกคนเปิดใจเล่าเรื่องที่สนุกหรือเป็นปัญหาก็ได้ทั้งสิ้น

สุดท้ายนี้ อยากให้ผู้อ่านทุกคนมองไปรอบตัว มีใครที่ถูกลืมไปบ้างไหม คุณอาจจะเป็น “หนูวิเศษ” “คุณหมี” หรือ “คุณเป็ด” สำหรับเขาก็ได้นะ

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน