ทุกวันนี้ถ้าอยากไปดูบ้านเมืองสะอาดและมีมลพิษน้อยก็คงต้องไปดูที่ยุโรป ซึ่งบางคนก็อาจคิดว่า นั่นเป็นเพราะคนของเค้าลดการบริโภคและมีระบบกำจัดขยะดีเยี่ยมจนทำให้ขยะไม่เหลือ
ถ้าคิดแบบนั้น “คุณคิดผิด” เพราะ "ความลับความสะอาด" ของประเทศเหล่านี้ คือ การ "ส่งออกขยะ" ไปยังประเทศอื่นๆ
ใช่ครับ อธิบายแบบไม่ใช้ถ้อยคำเคลือบน้ำตาลอะไรก็คือ พวกประเทศยุโรปใช้ประเทศอื่นเป็น "ถังขยะ" เพื่อให้บ้านเมืองตัวเองสะอาดน่ะแหละ
แต่อธิบายแบบนี้มันห้วนไป ต้องเข้าใจรายละเอียดก่อน
กำจัด ‘ขยะอินทรีย์’ เอง ส่งออก ‘ขยะพลาสติก’ ไปจีน
พวกประเทศยุโรป เค้ามีการแยกขยะกันจริงจัง และมีระบบจัดการพวกขยะที่ "ย่อยสลายตามธรรมชาติได้" อย่างดีเยี่ยม อย่าง ขยะอินทรีย์ หรือ "ขยะเปียก" ทั้งหลาย มักจะถูกนำมาทำพวก เชื้อเพลิงชีวมวล (biomass) ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการ "ให้ความร้อน" ในประเทศเขตหนาวทั้งหลาย โดยพวกนี้เค้าจะถือเป็น "พลังงานหมุนเวียน" (renewable energy) ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นคนละเรื่องกับ "พลังงานสะอาด" นะครับ พลังงานหมุนเวียนจำนวนหนึ่งถือว่าไม่สะอาด เพราะเวลาใช้มันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเอาพวกเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อสร้างพลังงานก็เข้าข่าย
อย่างไรก็ดี เค้าก็ถือว่าการทำแบบนี้มันเป็นการกำจัดขยะไปในตัว ก็เลยพอหยวนๆ ประเทศอย่างสวีเดนก็ใช้พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานหลัก ดังนั้น พวกขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายไม่ยากทั้งหลายมันมี "ทางไป" ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว เพราะยุโรปไม่ได้ขาดระบบในการแปลงขยะพวกนี้เป็นพวกเชื้อเพลิงชีวมวล
ซึ่งก็แน่นอน ขยะมีหลายรูปแบบ มันไม่ใช่ทุกรูปแบบจะจับไปเผาทำเชื้อเพลิงชีวมวลได้ โดยเฉพาะพวก "ขยะอันตราย" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขยะติดเชื้อหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องการการจัดการอีกแบบ
อย่างไรก็ดี ปัญหาจริงๆ คือ ขยะอีกกลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกว่า "ขยะรีไซเคิล" โดยขยะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ คือพวก “พลาสติก” ที่สามารถรีไซเคิลได้
ขยะพวกนี้ ในทางทฤษฎี สามารถเอามาแปรรูปเป็นสินค้าได้ใหม่ และในอดีต ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนก็ยินดีรับขยะพวกนี้จากทั่วโลกมาเพื่อ "รีไซเคิล" ซึ่งถามว่าจีนเอาไปทำอะไร หลักๆ ถ้าเราเคยเข้าพวก "ร้าน 20 บาท" ที่มีสินค้าทำจากพลาสติกราคาถูกจนงงมากมาย นั่นแหละครับ คำตอบ คือจีนเอาขยะพวกนี้มาแปรรูปเป็นสินค้าราคาถูกมากๆ ขาย และที่ของพวกนี้มันราคาถูกได้ขนาดนั้น เพราะมันคือสินค้าที่เกิดจากการรีไซเคิลขยะนั่นเอง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘ถังขยะใบใหม่’ เมื่อ ‘จีน’ เลิกเป็นโรงงานรีไซเคิลให้ยุโรป
ระบบยุโรปกำจัดขยะย่อยสลายง่ายเอง และส่งพวกขยะที่ย่อยสลายไม่ได้มารีไซเคิลที่จีนดำรงมายาวนาน แต่ถึงจุดหนึ่ง จีนก็กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ผลิตขยะเองมามากมาย และพวกโรงรีไซเคิลแค่รีไซเคิลขยะในจีนก็ไม่หวาดไม่ไหวแล้ว
นี่เลยทำให้จีนไม่สามารถจัดการกับขยะของยุโรปได้ ในที่สุดจีนก็ประกาศเลิก "นำเข้าขยะ" มาเพื่อรีไซเคิลในปี 2018 ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก
ที่เป็นเรื่องใหญ่เพราะว่า ระบบในการจัดการขยะของยุโรปทั้งหมด วางอยู่บนเงื่อนไขที่จีนรับจัดการขยะที่ยุโรปกำจัดไม่ได้ ซึ่งพอจีนไม่รับ ผลก็คือยุโรปก็ต้องหาที่ระบายขยะ
นี่คือ จุดเริ่มของหายนะ
จากเดิม ขยะจากแทบทุกประเทศยุโรปมุ่งสู่จีน หลังจีนเลิกนำเข้าขยะในปี 2018 แต่ละชาติก็เรียกได้ว่า ตะเกียกตะกายหาทางระบายขยะพลาสติกของตน โดยไอเดียรวมๆ ที่ยอมรับร่วมกันในทางปฏิบัติก็คือ ก็ส่งขยะไปประเทศกำลังพัฒนาประเทศไหนก็ได้
นี่เลยทำให้ขยะไหลไปสองทาง ทางแรก ไหลไปทางยุโรปตะวันออก ไอเดียก็คือ ชาติยุโรปตะวันออก มีกฎมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่แข็งแรง การเผาขยะที่ไม่ควรจะเผาทำได้ง่ายกว่าในพวกยุโรปตะวันตก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พวกขยะที่ควรจะถูกรีไซเคิล ไปๆ มาๆ มันถูกส่งไปเผาในประเทศที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ และก็จะไปสร้างมลพิษทางอากาศอีกที
ส่วนอีกทางของการไหลของขยะจากทวีปยุโรป คือ ไหลมาแถวบ้านเราใน 'เอเชียตะวันออกเฉียงใต้' โดยชาติที่ว่ากันว่า รับขยะจากยุโรปไปเยอะมากๆ ก็คือ อินโดนีเซีย แต่พวกเวียดนาม มาเลเซีย หรือกระทั่งไทย ก็ถือว่ารับกันไปไม่น้อยเช่นกัน และเนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ขยะพวกนี้มักจะไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ก็มักจะถูกฝังกลบ ซึ่งพอฝังกลบ ปลายทางของมันก็จะโดนน้ำโดนลมทำให้มันถูกไหลพัดพาลงไปในทะเลในที่สุด และพอมันไปถึงตรงนั้น พวกนักกิจกรรมด้านมลภาวะทางทะเลก็จะโวยว่าขยะจากยุโรป มันข้ามโลกมาโผล่แถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยังไง?
แน่นอน ทางสหภาพยุโรปก็ไม่ปลื้ม สุดท้ายออกข้อกำหนดว่า ห้ามส่งขยะไปประเทศนอกกลุ่ม OECD แต่ผลรวมๆ ชาติที่ยังเป็นชาติรองรับขยะก็คือ ประเทศจนสุดของกลุ่มอย่าง ตุรกี อยู่ดี ซึ่งตุรกีก็โวยระเบียบแบบนี้มาก เพราะข้อกำหนดแบบนี้ทำให้ "ที่ทิ้งขยะของชาวยุโรป" ย้ายจากยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มายังตุรกีแทน และโดยทั่ว ไปก็ไม่มีชาติไหนอยากให้ตัวเองกลายเป็นที่ทิ้งขยะของชาติอื่น
นี่เป็นปัญหาโลกแตก เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนจัดการ แต่มันต้องจัดการ ซึ่งถ้าถามว่ามันมีทางออกระดับโลกมั้ย คำตอบคือ มีความพยายามแน่นอน เพราะ Global Plastic Treaty ของทางสหประชาชาติก็น่าจะทำเสร็จมาภายในปี 2024 นี้
...แต่นั่นจะแก้ปัญหาได้จริงเหรอ?
ปัญหาจริงๆ อาจไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพราะในความเป็นจริงพวก "ขยะพลาสติก" ที่โดนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมา "ทิ้ง" ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ถูกส่งมาแบบ "ถูกกฎหมาย" พวกนี้เต็มไปด้วยการทำผิดกฎหมายนิดๆ หน่อย เพื่อให้ขยะถูก "กำจัด" ในท้ายที่สุด ซึ่งอะไรพวกนี้บอกเลยว่า ทำในยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วยาก เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมรุนแรง และมีความผิดทางอาญา
ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา การลักลอมนำขยะต่างชาติมากำจัดในประเทศมักจะมีความผิดแค่ทางแพ่ง ถ้าโดนจับได้ก็ปรับนิดหน่อย โดยความเป็นจริงมันอาจไม่ใช่การ "ลักลอบ" นำเข้าที่เข้าหน้าที่รัฐตรวจไม่เจอด้วยซ้ำ แต่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองน่ะแหละที่มีเอี่ยวในการลักลอบส่งขยะมาทิ้งแบบข้ามโลกนี้
นี่เป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่จบ และสุดท้ายสิ่งที่ชาวยุโรปผู้รักโลกและอยากสบายใจ ก็อาจต้อง ‘หลับตาสักข้างหนึ่ง’ และก้มหน้าก้มตาแยกขยะต่อไป โดยหวังว่าขยะรีไซเคิลที่แยกไว้จะถูกนำไปรีไซเคิลจริงๆ ทั้งๆ ที่ข้อมูลทางสถิติไม่ได้ชี้ไปในทางนั้น
อ้างอิง:
How Europe’s “Trash Market” Offloads Pollution on Its Poorest Countries
'Loophole' will let UK continue to ship plastic waste to poorer countries
Plastic recycling from Europe is being dumped in Asian waters
How European trash illegally ends up in Southeast Asia
EU agrees to ban exports of waste plastic to poor countries
Global plastics treaty: As negotiations continue, what can countries do to cut down on