นวัตกรรมสังคมสุดว้าว!! สำหรับการดูแลผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ระบบการสะสมคะแนนจากการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย ที่สามารถเก็บไว้ใช้เมื่อตอนที่แก่ตัวหรือยามป่วยไข้ ทั้งยังสามารถโอนให้ญาติผู้ใหญ่ต่างเมืองให้ได้รับการดูแลได้ด้วย
Fureai Kippu คือ “สกุลเงินชุมชน” ในญี่ปุ่น สำหรับเป็นคะแนนให้กับผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งคะแนนนี้สามารถเก็บสะสมไว้ และเปลี่ยนเป็น “การดูแล” เมื่อพวกเขาเหล่านั้น “เจ็บป่วย” หรือ “แก่ตัว” ไป หรือจะโอนไปให้ผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นๆ ก็ได้
เมื่อพูดถึง “สังคมสูงวัย” ประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง รวมถึงนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศญี่ปุ่นมีอยู่มากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือ “Fureai Kippu” หรือ “ตั๋วดูแล” (care tickets) ซึ่งเป็น “สกุลเงินชุมชน” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยในญี่ปุ่น โดยกำหนดว่า คนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนจะได้รับคะแนนใส่ในบัญชีของตัวเอง และคะแนนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นการดูแลพวกเขาเมื่อแก่ตัวไปในอนาคต หรือสามารถโอนคะแนนให้พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของตัวเองที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นได้ด้วยเช่นกัน
Fureai Kippu ทดลองใช้ครั้งแรกในปี 1995 โดย สึโตมุ ฮอตตะ อดีตทนายความผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Suwayaka Welfare Foundation จุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างสังคมที่มีความเชื่อมโยงทางรู้สึกระหว่างกลุ่มคนทุกช่วงวัยและต่างอาชีพในชุมชน ใครก็ตามที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ เช่น การไปซื้อของให้กับผู้สูงอายุ อ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง พาผู้สูงอายุไปหาหมอ ทำอาหาร อยู่เป็นเพื่อนคุย หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จะได้รับคะแนนใส่ในบัญชีของตัวเอง โดยที่คะแนนเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นการตอบแทนพวกเขาในรูปแบบของการได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วยหรือแก่ตัวไปในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ยังสามารถโอนคะแนนของตัวเองไปให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของพวกเขาที่อยู้ในเมืองอื่นๆ ให้ได้รับการดูแลหรือได้รับความช่วยเหลือที่คล้ายกันได้ด้วย
ทั้งนี้ การดูแลที่แตกต่างกันก็จะได้รับคะแนนที่แตกต่างกัน เช่น การไปซื้อของหรืออ่านหนังสือเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะได้รับ 1 คะแนน แต่การทำความสะอาดร่างกายผู้สูงอายุหรือผู้พิการ จะได้รับ 2 คะแนน เป็นต้น
การกำหนดให้สามารถโอนคะแนนให้ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ต่างเมืองได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับคะแนน ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจากที่อื่นอีกทอดหนึ่ง ระบบนี้จึงทำให้คนหนุ่มสาวที่ย้ายไปอยู่เมืองอื่นๆ ยังได้ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวของตัวเองผ่านระบบการโอนคะแนน ขณะเดียวกัน ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนนั้นๆ ได้
การสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากชอบผู้ให้บริการที่รับเงินสกุล Fureai Kippu มากกว่าคนที่รับเงินเยน เนื่องจากความสัมพันธ์และระดับการดูแลที่ได้รับมีความแตกต่างกัน Fureai Kippu นั้นสร้างความเชื่อมโยงในแบบที่เป็นส่วนตัวและทำให้เกิดความรู้สึกของการตอบแทนซึ่งกันและกัน ที่ไม่สามารถนำไปเทียบได้กับการชำระด้วยเงินตราแบบเดิม ซึ่งผู้สูงอายุรู้สึกว่า ความเป็นชุมชนและการดูแลเอาใจใส่กันอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจนั้นลดลง
อาจกล่าวได้ว่า การใช้สกุลเงิน Fureai Kippu ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า เมื่อสมาชิกคนหนึ่งให้บริการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยรายหนึ่ง สมาชิกเครือข่ายคนอื่นๆ ก็กำลังให้บริการดูแลคนที่พวกเขารักอยู่ด้วยเช่นกัน และผู้ที่ได้รับการดูแลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวขยายของสมาชิกเครือข่ายในที่สุด
เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการดูแลที่รับเงินเยน แม้พวกเขาจะมีความสามารถและปรารถนาที่จะทำงานนี้อย่างแท้จริง แต่ก็ยังเป็นการทำงานแบบได้รับค่าจ้าง ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุหลายคนรู้สึกว่า เงินเป็นปัจจัยหลักในการทำงาน แต่การใช้สกุลเงิน Fureai Kippu ต้องใช้ความรู้สึกมาเป็นปัจจัยในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย
ระบบการดูแล Fureai Kippu ไม่ต้องใช้เงินและการประกันภัย สมาชิกในชุมชนทำหน้าที่ดูแลสมาชิกคนอื่นๆ และประโยชน์ของการใช้ระบบนี้ เป็นสิ่งที่การจ่ายค่าตอบแทนแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ ขณะที่การเชื่อมโยงกันของคนในชุมชนจะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนไปข้างหน้า โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง
ขณะนี้มีสถาบันต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่่นมากกว่า 370 แห่งที่ยอมรับสกุลเงินใหม่นี้ ซึ่งประโยชน์ในระยะยาวของระบบ Fureai Kippu คือ โลกอนาคตที่ประโยชน์ส่วนตนจะถูกแทนที่ด้วยแรงจูงใจทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือผู้อื่น
อ้างอิง:
Turning goodwill into currency
Fureai Kippu – Compassion is the new currency
Japan’s Fureai Kippu Time-banking in Elderly Care: Origins, Development, Challenges and Impact
Providing Services (Without Increasing Costs) to an Aging Population