การศึกษาชิ้นใหม่เผยถึงผลการวิเคราะห์เพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษจำนวนหลายพันเพลง ที่ปล่อยออกมาสู่ผู้ฟังระหว่างปี 1970 - 2020 พบว่า เนื้อเพลงเปลี่ยนมาพูดถึงตัวเองมากขึ้น และแสดงออกถึงอารมณ์ด้านลบมากกว่าเพลงในอดีต
ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา โครงสร้าง และทำนองของเพลงในช่วง 50 ปีมานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากยุโรปทำการตรวจวิเคราะห์แนวดนตรียอดนิยมของตะวันตก 5 ชนิด ได้แก่ แร็พ ป๊อป คันทรี ร็อค และอาร์แอนด์บี เริ่มต้นจากการสร้างฐานข้อมูลดนตรีโดยใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์ last.fm และเว็บไซต์ genius.com ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเนื้อเพลง และเลือกเพลงขึ้นมา 582,759 เพลง ก่อนจะจำกัดชุดข้อมูลให้แคบลงเหลือ 353,320 เพลง จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์เนื้อเพลง เช่น ความซับซ้อน ความง่ายในการอ่าน จังหวะและอารมณ์ของเพลง แล้วใช้เอไอในการศึกษาตัวอย่างเพลงที่สุ่มเลือกมาจำนวน 12,000 เพลง โดยทำให้สมดุลด้วยการผสมผสานกันระหว่างปีที่เพลงออกสู่ตลาดและแนวเพลงที่ปล่อยออกมา
ทีมวิจัยพบว่า เนื้อเพลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเปลี่ยนมาสู่การพูดถึงเรื่องของตัวเองมากขึ้น เปิดเผยตรงไปตรงมามากขึ้น และแสดงออกถึงอารมณ์ด้านลบที่มากขึ้นด้วย นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นภาพสะท้อนถึงภาวะอารมณ์ของสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสนุกสนานของดนตรี
นักวิจัยพบว่า มีการใช้คำสรรพนาม เช่น “ของฉัน” และ “ฉัน” มากขึ้นและถี่ขึ้นในเกือบทุกแนวเพลง ยกเว้นเพลงคันทรี รวมถึงมีการใช้คำที่แสดงอารมณ์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่แสดงอารมณ์ด้านลบ และเพลงแร็พเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีเนื้อหาของเพลงแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว
นักวิจัยกล่าวว่า เพลงแร็พเป็นเพลงที่มีคนดูเนื้อร้องทางออนไลน์มากที่สุด แต่ความหลากหลายของคำในเนื้อเพลงจะค่อยๆ ลดลง นักวิจัยวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะแร็พมีการใช้คำเฉพาะของตัวเอง และมีการร้อง จังหวะดนตรีซ้ำๆ เดิม ส่วนเพลงคันทรี คนฟังชอบที่จะดูเนื้อร้องเพลงเก่าๆ เป็นการสะท้อนถึงช่วงอายุของผู้ฟัง ส่วนเพลงอาร์แอนด์บี รวมถึงเพลงโซล คนฟังมักสนใจเนื้อเพลงรองจากดนตรี สำหรับเพลงป๊อป ร็อค และคันทรี นักวิจัยกล่าวว่า เนื้อเพลงอาจไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่มีความหมายมากนักสำหรับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
เอวา ซานเกอลี ศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และนักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยอินสบรูค ในออสเตรเลีย กล่าวว่า “ทุกแนวเพลง จะเห็นว่าเนื้อร้องมีแนวโน้มที่จะเรียบง่ายและซ้ำมากกว่าในอดีต”
ปัจจุบัน คนฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากขึ้น ศิลปินจึงให้ความสำคัญกับการดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเป็นอันดับแรก และแนวโน้มที่แสดงให้เห็นในการศึกษาชิ้นใหม่ก็สะท้อนถึงสภาวะนั้น
มิเชล วาร์นัม นักจิตวิทยาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า “เมื่อคนมีตัวเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ คนเขียนเพลงก็มีแนวโน้มที่จะนำเสนอสิ่งที่ง่ายกว่าและตรงไปตรงมามากกว่า”
สอดคล้องกับที่ พอล ลาแมร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลจากแฟลตฟอร์ม Echo Nest กล่าวว่า เกือบร้อยละ 50 ของคนที่ฟังเพลงบนสปอติฟายจะกดข้ามไปเพลงอื่นโดยที่ฟังไม่จบ ขณะที่ 1 ใน 4 จะฟังแค่ 5 วินาทีแรกและกดข้ามไป
พอลกล่าวว่า “10 ถึง 15 วินาทีแรก มีความสำคัญมากว่าคนฟังจะกดข้ามเพลงของเราไปหรือไม่” และในการช่วงชิงความสนใจจากผู้ฟัง เพลงที่มีเนื้อร้องซ้ำๆ อาจได้เปรียบ เพราะทุกวันนี้เนื้อเพลงที่ได้รับความนิยมควรจะติดหูและจดจำได้ง่าย
ที่มา Song Lyrics Have Become Angrier, Simpler and More Repetitive