Skip to main content

“ฉันรู้ว่าบางครั้งการยอมแพ้ก็ทำได้ง่ายกว่า แต่เธอก็มาได้ไกลมากแล้ว และเธอก็เข้มแข็งมากกว่าที่เธอคิดเสียอีก” 

- จดหมายจากคนแปลกหน้า

เพราะเชื่อว่าความรู้สึกเจ็บปวดที่กำลังแบกรับจะลดน้อยลง หากมีใครสักคนคอยแบ่งปันหรือเข้าอกเข้าใจความรู้สึกนั้น "Letters to Strangers" องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการโดยเยาวชน จึงเริ่มต้นการเดินทางช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่หัวใจกำลังแตกสลาย โดยใช้ “จดหมาย” เป็นสื่อกลาง พร้อมขับเคลื่อนเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน

ในแต่ละปี จะมีผู้ใหญ่ราว 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญปัญหาอาการป่วยทางจิต และ 50% ของผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 14 ปี เช่นเดียวกับ ไดอาน่า โจว เด็กสาวชั้น ม.2 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคไบโพลาร์และพยายามฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้ง ทว่า การเข้าถึงการรักษาอาการป่วยทางจิตกลับเป็นเรื่องที่แสนยากเย็นสำหรับลูกหลานครอบครัวผู้อพยพชาวจีนในสหรัฐฯ ที่มีรายได้น้อยดังเช่นไดอาน่า

เพื่อหาทางเยียวยาหัวใจที่แตกสลายของตัวเอง ไดอาน่าหันหน้าเข้าสู่ “การเขียนจดหมาย” และนั่นคือ สิ่งที่ช่วยชีวิตของเธอเอาไว้

ไดอาน่าเขียนจดหมายถึงคนแปลกหน้ามากมาย และยิ่งเธอเขียนมากเท่าไร เธอก็ยิ่งค้นพบเสียงของตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับความเห็นอกเห็นใจในตัวเอง และเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ จดหมายเหล่านี้ทำให้ไดอาน่ารู้สึกเหงาน้อยลง และตระหนักได้ว่าสิ่งนี้ก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เหมือนกัน

 

ภาพจาก pixel.com

 

ไดอาน่าก่อตั้งชมรม “Letters to Strangers” ขึ้นในปี 2013 โดยสมาชิกในชมรมจะมาพบปะกันสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเขียนจดหมายเล่าเรื่องราวปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง ให้กำลังใจ และสนับสนุนผู้ที่กำลังต่อสู้กับช่วงเวลาที่ยากลำบากของตัวเอง โดยผู้เขียนจะไม่เปิดเผยตัวตน 

หลังมีนักเรียนในโรงเรียนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ชมรมแห่งนี้เขียนจดหมายปลอบใจและหย่อนจดหมายไว้ในล็อกเกอร์ของนักเรียนคนอื่นๆ ไดอาน่าเล่าว่า เธอถึงกับร้องไห้เมื่อเห็นนักเรียนคนหนึ่งน้ำตาไหลขณะอ่านจดหมายของชมรม ขณะที่คนอื่นๆ ก็เดินเข้ามาขอบคุณเธอ

“ฉันได้รับโทรศัพท์จากนักเรียนคนหนึ่ง จนถึงวันนี้ฉันก็ยังไม่รู้ว่าเขาคนนั้นคือใคร แต่เขาบอกว่าจดหมายของพวกเขาช่วยชีวิตของเขาไว้” ไดอาน่า โจว ผู้ก่อตั้งชมรม “Letters to Strangers”

10 ปีให้หลัง Letters to Strangers เติบโตกลายเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่จะลบล้างภาพจำที่เลวร้ายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต เพิ่มการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง รวมทั้งก่อตั้งสายด่วนสุขภาพจิตแห่งแรกในแอฟริกา เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตเพียงลำพัง

 

ภาพจาก pixel.com

 

“โปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จในแบบที่ฉันไม่เคยคาดคิดเลย แต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เช่นกัน เพราะการฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุการตายที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของเยาวชนทั่วโลก” ไดอาน่าชี้

ความแตกต่างสำคัญที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ก่อตั้ง Letters to Strangers คือพวกเขาพบว่ามี “การสร้างกระแส” ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยบางคนมองว่าความผิดปกติด้านสุขภาพจิตเป็นลัษณะบุคลิกภาพที่น่าสนใจ มากกว่าจะเป็นอาการป่วยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะมีความกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องอาการป่วยทางจิตและขอความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน แต่ไดอาน่าก็ระบุว่านั่นคือความเข้าใจผิด

“ถ้าถามว่าคุณเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตจากที่ไหน คนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าจากสื่อพวกภาพยนตร์หรือข่าว แต่ไม่ใช่จากจิตแพทย์ ซึ่งกับเด็กรุ่นใหม่ก็เหมือนกัน มันไม่ได้แปลว่าพวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เช่นกัน” ไดอาน่ากล่าว

 

ที่มา
เว็บไซต์ Letters to Strangers
เฟสบุ๊ก Letters to Strangers 
How Writing ‘Letters to Strangers’ Helps Students Who Need Mental Health Support
Mental health made personal