Skip to main content

 

Libertus Machinus

 

ผลวิเคราะห์ชี้ ถ้าไม่อยากให้คนเป็น “หนี้” ไม่ควรเน้นสวัสดิการแบบเอาใจ "วัยรุ่นตกงาน"  แต่ควรเน้นสวัสดิการให้คนมีงานมั่นคงและสวัสดิการคนในวัยเกษียณ

“หนี้ครัวเรือน" คือ ปัญหาใหญ่มาช้านานในทุกประเทศ และในประเทศไทยเราก็น่าจะได้ยินบ่อยๆ ว่าหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ อาจสร้างปัญหาเศรษฐกิจในทุกระดับ

ที่นี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า “แล้วจะทำยังไงให้ไม่มีหนี้ครัวเรือน หรือมีนโยบายรัฐอะไรใดๆ จะช่วยได้มั้ย?”

ในความเป็นจริง ทางฝั่งอเมริกา เค้าจะมีทฤษฎีที่เรียกว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างสวัสดิการกับหนี้ (Welfare-Debt Tradeoff) ซึ่งทฤษฎีนี้ก็จะอธิบายว่าที่สังคมอเมริกัน คนเป็นหนี้เยอะ เพราะว่ารัฐมีสวัสดิการน้อย ดังนั้น ถ้าเทียบกับยุโรป คนอเมริกันในภาพรวมจะมีคุณภาพชีวิตได้ในระดับเท่าๆ กัน ก็ต้องเป็นเป็นหนี้เท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้กำลังบอกว่า "ถ้าบ้านเมืองมีสวัสดิการที่ดี ประชาชนจะไม่เป็นหนี้"

แน่นอน คำอธิบายแบบนี้อาจฟังดูสมเหตุสมผลในฝั่งอเมริกา หรือกระทั่งสมเหตุสมผลสำหรับสังคมไทยด้วย (เพราะไทยคล้ายอเมริกาในมิติทางนโยบายเศรษฐกิจ) แต่วิธีคิดแบบนี้กลับละเลยข้อเท็จจริงทางสถิติง่ายๆ เห็นๆ เลยว่า จริงๆ แล้วชาติที่มีเงินสวัสดิการเยอะๆ อย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิก ไม่ใช่กลุ่มประเทศที่ประชาชนจะเป็นหนี้น้อย และจริงๆ ประเทศกลุ่มนี้คือประชาชนเป็นหนี้เยอะระดับต้นๆ ของประเทศกลุ่มรวยอย่างกลุ่ม OECD ด้วยซ้ำ

ดังนั้นวิธีคิดแบบนี้ผิดเหรอ? มีสวัสดิการแล้วยิ่งทำให้คนเป็นหนี้เหรอ?

คำตอบมันไม่ได้ง่าย แต่ถ้าจะทำความเข้าใจ เราต้องถอยไปทำความเข้าใจหลายสเต็ปเลย

 

รัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก vs รัฐสวัสดิการแบบยุโรป

 

อย่างแรกสุด ถ้าเราจะเข้าใจจริงๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาพูดถึง "รัฐสวัสดิการ" มันไม่ได้มีแต่มิติเชิงปริมาณ ว่าเงินสวัสดิการต่อหัวประชากรมากหรือน้อย เพราะหน้าตาของสวัสดิการมันก็ต่างๆ กัน

แน่นอน โดยรวมๆ ประเทศฝั่งภาพพื้นทวีปยุโรป มีเงินสวัสดิการต่อหัวประชากรมากกว่าพวกประเทศในโลกภาษาอังกฤษทั้งหลายอย่าง อเมริกา อังกฤษ ไปจนถึงแคนาดา แต่ในภาคพื้นยุโรปเองก็มีความแตกต่างด้านจุดเน้นสวัสดิการของแต่ละประเทศ

เราคงจะไม่สามารถแจงละเอียดได้ในที่นี้ แต่ในภาพใหญ่ๆ บุคลิกของสวัสดิการในยุโรปแบ่งเป็นสองแบบใหญ่ๆ แบบแรก คือเน้นสวัสดิการแบบตามจารีตที่เน้นครอบครัว สร้างความมั่นคงให้คนทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ และแต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ เน้นดูแลคนแก่ที่ทำงานไม่ไหว ดังจะเห็นว่างบสวัสดิการจะเทไปทางสวัสดิการคนแก่เสียเยอะ 

แบบที่สอง เน้นสวัสดิการแบบปัจเจก คอยอุ้มชูคนตกงาน โดยมีระบบฝึกแรงงานเพื่อหางานให้คนสามารถได้งานมีทักษะ โดยพวกนี้งบสวัสดิการรวมๆ จะค่อนข้างสมดุลระหว่างคนทำงานกับคนแก่ เพราะคนแก่ก็ต้องดูแลไม่ขาดอยู่แล้ว แต่ก็ไปเน้นงบประมาณอีกจำนวนไม่น้อยเพื่อดูแลคนตกงานด้วย

แบบที่สองถ้าจะพูดรวมๆ คือ แนวของพวกกลุ่มประเทศนอร์ดิก ส่วนแบบแรก คือ ประเทศยุโรปอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นแนวนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มประเทศนอร์ดิกที่มีสวัสดิการดูแลและจัดการคนตกงานอย่างดี ในภาพใหญ่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้คนเลือกจะเป็นหนี้มากกว่าคนในกลุ่มประเทศที่สวัสดิการเน้นไปในเรื่องของการดูแลคนทำงานและคนแก่มากกว่า

 

ภาพจาก unsplash.com

 

ทำไมประเทศนอร์ดิกที่รัฐสวัสดิการดี แต่หนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว

 

คำถามคือทำไม? อันนี้ถ้าจะให้แฟร์ต้องไปดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือน

เราอยากจะแบ่งง่ายๆ ก่อนว่า หนี้ครัวเรือนมีสองส่วน ส่วนแรก คือ หนี้เรื่องบ้าน อีกส่วน คือ หนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งถ้าไปดูจะเห็นว่า "หนี้ครัวเรือน" ของกลุ่มนอร์ดิกมักจะหนักไปทางหนี้เรื่องบ้าน มีหนี้เพื่อการบริโภคไม่เยอะ แต่พอมีหนี้บ้านเยอะ ยังไงหนี้ครัวเรือนภาพรวมก็จะออกมาเยอะ

ถ้าเทียบกันอีกก็จะเห็นว่า พวกประเทศยุโรปที่เน้นสวัสดิการดูแลคนทำงานและคนแก่ แบบฝรั่งเศสและเยอรมนี (หรือกระทั่งญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ยุโรป) หนี้บริโภคจะก็จะพอๆ กับพวกนอร์ดิกนี่แหละ แต่หนี้บ้านจะไม่มี ดังนั้น หนี้ครัวเรือนก็จะน้อยกว่ากลุ่มนอร์ดิก

โดยทั้งหมดนี้ ถ้าไปเทียบกับพวกอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ประเทศพวกนี้จะมีทั้งหนี้การบริโภคและหนี้บ้าน สูงกว่าฝั่งยุโรปลิบลับ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภค

แล้วทั้งหมดมันบอกอะไรเรา?

ภาพรวม คือ ถ้าประเทศไม่มีสวัสดิการหรือสวัสดิการแย่ คนมีแนวโน้มจะเป็นหนี้หัวโตแน่นอน อันนี้เป็นเรื่องจริงที่มีตัวเลขยืนยัน อย่างไรก็ดี ประเด็น คือ ไม่ใช่สวัสดิการอะไรก็ได้ที่จะจูงใจให้คนไม่ก่อหนี้ 

 

‘วัยรุ่น’ ประเทศนอร์ดิกก่อหนี้ได้มากกว่า เพราะชีวิตมั่นคงตั้งแต่แรกเริ่มทำงาน

 

กลับมาที่คำถามเราที่ทิ้งเอาไว้ คือ ทำไมประเทศนอร์ดิกที่มีสวัสดิการดูแลและจัดการคนตกงานอย่างดี ในภาพใหญ่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้คนเลือกจะเป็นหนี้ มากกว่ากลุ่มประเทศที่เน้นดูแลคนทำงานและคนแก่มากกว่าที่จะดูแลคนตกงาน

จริงๆ คำตอบอยู่ในคำถามแล้ว

ประเด็น คือ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก คนไม่กลัวตกงานไงครับ ไอเดีย คือ ยังไงรัฐก็จะหางานให้ทำ ซึ่งในสภาวะแบบนี้ คนจะไม่กลัวการสร้างหนี้ก้อนใหญ่แบบซื้อบ้าน

ตรงนี้เราก็ต้องเข้าใจอีกว่า โดยธรรมชาติกลุ่มคนที่ไม่มีการงานมั่นคง คือ พวกวัยรุ่นที่เริ่มทำงานใหม่ๆ พวกนี้ คือ คนอายุน้อย ทักษะต่ำ ถ้าอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป เค้าต้องขวนขวายเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นเวลานาน เปลี่ยนงาน และได้งานดีๆ ในที่สุด ซึ่งเมื่อนั้นพวกเค้าถึงจะ "มั่นคง" 

แต่ถ้าพวกที่อยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ความ "มั่นคง" มันมีตลอดตั้งแต่อยากทำงาน ไม่ต้องกลัวตกงาน เพราะถึงหางานไม่ได้ รัฐก็มีโปรแกรมฝึกให้เรื่อยๆ และพยายามผลักดันพวกเค้ากลับเข้าตลาดแรงงานตลอด ดังนั้น พวกเค้าตัดสินใจไม่ยากตั้งแต่ได้งานแรกว่าพวกเค้าสามารถจะซื้อบ้านได้ ซึ่งต่างจากพวกวัยรุ่นอื่นๆ ในยุโรปที่จะไม่ตัดสินใจซื้อบ้านจนกว่าจะ "มั่นคง" ในการงาน

ถ้ายังไม่เห็นภาพ อยากลองให้นึกเทียบวัยรุ่นสองประเทศ วัยรุ่นสวีเดนกับวัยรุ่นเยอรมัน วัยรุ่นสวีเดนเรียนจบมาอยากทำงาน หางานไม่ได้ รัฐมีโปรแกรมฝึกและหางานให้จนได้งาน ซึ่งถ้าได้งานแล้วตกงานหรืออยากเปลี่ยนสายงานก็เข้าโปรแกรมฝึกได้อีก คนแบบนี้ยังไงก็ไม่กลัวตกงาน และพอรู้สึกมั่นคงแต่แรกแบบนี้เค้าก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังตั้งแต่อายุยังน้อย และกู้เงินซื้อบ้านเลยเมื่อเจอบ้านที่ถูกใจในราคาที่รับไหว

วัยรุ่นเยอรมันต่างออกไป เค้าเรียนจบเค้าอาจไม่มีงานทำ เพราะถึงตำแหน่งงานจะว่างไม่น้อยในเยอรมัน แต่มันเป็นงานแบบมีทักษะทั้งนั้น ซึ่งถ้าทักษะเค้าไม่ตรงเป๊ะหรือประสบการณ์ไม่พอเค้าก็ไม่รับ ดังนั้น จึงต้องพยายามขวนขวายหางานระดับต่ำทำเก็บเลเวลไปเองก่อน ซึ่งก็ต้องลุยเอง เพราะรัฐไม่มีนโยบายมาดูแลคนตกงาน อย่างไรก็ดี พอเค้าเก็บเลเวลพอจนโตขึ้นมาหน่อย เค้าก็ไปทำงานทักษะสูงได้ ได้เซ็นสัญญาปุ๊บ คือ มั่นคงแทบไม่ต้องกลัวตกงานอีกแล้ว เพราะเยอรมันใช้ระบบกฎหมายแรงงานที่แข็งแรงทำให้คนถูกไล่ออกไม่ได้ง่ายๆ ตอนนี้แหละที่ "วัยรุ่นเยอรมัน" จะมีชีวิตและงานที่ "มั่นคง" พอจะซื้อบ้านได้สักหลังถ้าอยากจะซื้อ 

สมมติว่า “วัยรุ่นสวีเดน” และ "วัยรุ่นเยอรมัน" อยากได้บ้านราคาเท่าๆ กัน (เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ) วัยรุ่นสวีเดนก็จะก่อหนี้มากกว่าเสมอ เพราะกู้เงินซื้อบ้านตอนอายุน้อย เงินดาวน์มันน้อย เงินกู้ก็จะก้อนใหญ่ แต่กลับกัน "วัยรุ่นเยอรมัน" กว่าจะคิดซื้อบ้านก็อยู่ในวัยที่ทำงานอย่างมั่นคงแล้ว ตามธรรมชาติคือ เงินเดือนก็ไม่น้อยแล้วแน่ๆ ดังนั้น เค้าก็จะต้องลงเงินดาวน์เยอะๆ ตอนซื้อบ้านเพื่อให้กู้เงินน้อยที่สุด และผลก็คือ "วัยรุ่นเยอรมัน" ก็จะก่อหนี้น้อยกว่าวัยรุ่นสวีเดนตอนซื้อบ้าน ซึ่งอันนี้อธิบายได้จากช่วงอายุของการซื้อบ้านเลย เพราะตามหลักแล้ว ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด การซื้อบ้านตอนอายุน้อยมันมีแนวโน้มจะก่อหนี้มากกว่าซื้อบ้านตอนอายุเยอะกว่าอยู่แล้ว

 

ภาพจาก unsplash.com

 

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ๆ ของชีวิตคนในรัฐสวัสดิการทั้งสองรูปแบบที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก่อหนี้นะครับ อาจไม่ได้ตรงเป๊ะ แต่แน่นอนมันทำให้เห็นภาพ

และนี่คือประเด็นทั้งหมดครับ คือ อยากให้เห็นว่า การพยายามออกแบบสวัสดิการมาอุ้มชูคนอายุน้อยๆ ในวัยทำงานอาจทำให้เกิดหลายอย่างได้ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ยาวิเศษในการลดหนี้ครัวเรือนแน่ๆ เพราะตัวอย่างจากพวกรัฐสวัสดิการนอร์ดิกก็ชัดเจนมากว่า การมีสวัสดิการ "เอาใจวัยรุ่น" ที่เริ่มทำงานใหม่ๆ นั้นไม่ได้ทำให้คนไม่เป็นหนี้ แต่มันกลับทำให้คนเลือกจะก่อหนี้ระยะยาวแบบซื้อบ้านเพราะรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงมากกว่า

แน่นอนว่า ตรงนี้ก็เถียงกันต่อได้ว่า "แล้วคนไม่มีควรจะมีสิทธิ์มีบ้านเป็นของตัวเองเหรอ?”  ซึ่งประเด็นนี้คงต้องถกกันยาวแน่ๆ เพราะชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ที่มีผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์แฝงอยู่เสมอ 

ตรงนี้เลยขอเอาแค่ให้เห็นชัดๆ ตรงกันก่อนว่า ไอเดียที่ว่า "ถ้าบ้านเมืองมีสวัสดิการที่ดี คนจะไม่เป็นหนี้" เป็นไอเดียที่ผิดในแบบที่ผิดเลย และหลักฐานว่า ไอเดียแบบนี้ผิดก็ไม่ใช่จากไหนอื่นไกล มาจากรัฐสวัสดิการชั้นนำของโลกอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกนั่นเอง

 

ที่มา

Martino Comelli, “The impact of welfare on household debt”, Sociological Spectrum, Vol. 41, No.2 (2021), pp. 154-176

Andreas Wiedemann, "How Credit Markets Substitute for Welfare States and Influence Social Policy Preferences: Evidence from US States", British Journal of Political Science, Vol.52, No. 2, (2022), pp. 829-849

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน

https://theopener.co.th/topic/libertus-machinus