Skip to main content

ญี่ปุ่นปฏิรูปการทำงาน โดยรัฐบาลกำหนดเพดานชั่วโมงการทำงาน ‘ล่วงเวลา’ ของหมอ คนงานก่อสร้าง และรถขับรถบรรทุก ขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะ ‘สังคมสูงวัยขั้นสุด’ กำลังเผชิญการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก มิหนำซ้ำค่าครองชีพก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้จึงเป็น “ปัญหาแห่งปี 2024” ของชาวญี่ปุ่นที่ชวนให้ ‘หัวจะปวด’

ประเด็นที่คนญี่ปุ่นกำลังถกเถียงกันเป็นวงกว้าง หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้ “กฎหมายปฏิรูปการทำงาน” ในปีงบประมาณใหม่ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องข้อจำกัดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในสายอาชีพคนขับรถบรรทุก คนงานก่อสร้าง และแพทย์ ซึ่งเป็นสายงานที่มีปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็นำไปสู่ความกังวลว่าอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของงานบริการเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน โดยคนญี่ปุ่นถึงกับยกให้เป็น “ปัญหาแห่งปี 2024” ทั้งความยุ่งยากด้านโลจิสติกส์ การก่อสร้างที่หยุดชะงัก และการลดลงของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กฎหมายปฏิรูปการทำงานมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2019 จำกัดการทำงานล่วงเวลาไว้ที่ไม่เกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน (หรือ 360 ชั่วโมงต่อปี) แต่กฎหมายนี้ถูกระงับใช้เป็นเวลา 5 ปี สำหรับอาชีพแพทย์ คนขับรถบรรทุก และคนงานก่อสร้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มงานที่มองว่าไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันที เนื่องจากผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน จนกระทั่งมีผลบังคับใช้จริงในปี 2024

กฎระเบียบใหม่ตามกฎหมายแรงงานฉบับแก้ไขได้กำหนดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาประจำปีของอาชีพต่างๆ ระบุว่า คนขับรถบรรทุกทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 960 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่คนงานก่อสร้างทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 720 ชั่วโมงต่อปี และแพทย์ทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 1,860 ชั่วโมงต่อปี (ขึ้นอยู่กับเหตุผลจำเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นนั้นๆ) 

ระเบียบดังกล่าวทำให้คนทั่วไปรู้สึกกังวลว่า กฎระเบียบใหม่นี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำ แต่มีประชากรสูงวัยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาที่เข้มงวดนี้จะส่งผลให้คนทำงานที่มีอยู่รู้สึกตึงเครียด และทำให้การขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงอยู่แล้ว รุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะค่าล่วงเวลาที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะเผชิญกับความสามารถในการขนส่งที่ลดลง 34% ในปี 2030 จึงทำให้บริษัทโลจิสติกส์อย่าง Yamato Transport และ Sagawa Express เตรียมขึ้นค่าธรรมเนียมในการจัดส่งพัสดุด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของพนักงานส่งของ รับมือกับการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

แน่นอนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องย่อมต้องเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้เพิ่มระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่ที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ทำงานได้นานถึง 5 ปี ขณะที่บางบริษัทก็ได้เปลี่ยนระบบการขนส่งจากรถบรรทุกเป็นทางรถไฟหรือระบบการทำงานอัตโนมัติในการขนส่ง

นอกจากอาชีพคนขับรถบรรทุกแล้ว คนขับรถแท็กซี่ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังขาดแคลนในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน และการรับมือกับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจะอนุญาตให้มีบริการแชร์รถ สำหรับคนขับที่ใช้รถส่วนตัวเพื่อรับและให้บริการผู้โดยสารตามเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้  

ขณะที่โรงพยาบาลก็ได้เพิ่มบุคลากรเข้ามาช่วยงานในส่วนต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนแพทย์ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความพยายามเพิ่มจำนวนแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2017 จำนวนแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น 23% หรือคิดเป็น 1,759 คน จากนั้นก็เพิ่มขึ้นประมาณ 1% ทุกปี และในปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังกำหนดโควต้านักศึกษาแพทย์ไว้ที่ 9,403 คน ซึ่งทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนแพทย์ 2.64 คนต่อคนไข้ 1,000 คน

ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารขอประเทศญี่ปุ่น พบว่าในปี 2023 มีคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ 4.83 ล้านคน ซึ่งลดลงมากถึง 1.2 ล้านคนจากเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะเดียวกันคนทำงานมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปคิดเป็น 36% ของคนทำงานทั้งหมด และสะท้อนว่าการจะลดชั่วโมงการทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จำเป็นต้องมีความเข้าใจและความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อสร้างด้วย

ไม่ใช่แค่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้น โดยผู้ผลิตอาหารคาดการณ์ว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาวัถตุดิบและโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น โดยบริษัทวิจัย Teikoku Databank ระบุว่าราคาอาหารมากกว่า 2,800 รายการจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายนนี้ เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่จะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10,000 เยน หรือราว 2,400 บาท สำหรับครัวเรือนมาตรฐานที่ใช้ไฟ 400 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อเดือน

เมื่อข้าวของปรับราคาสูงขึ้น การขึ้นค่าจ้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ บริษัทต่างๆ ได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น 5.25% เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ก็จะนำไปสู่การฟื้นตัวของกำลังซื้อในครัวเรือนญี่ปุ่นหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด


ที่มา
New work-style reform measures kick off in Japan
The regulation of working hours for workers in the medical, logistics, and construction sectors
Japan’s New Overtime Limits Eyed with Trepidation; Labor Shortages Threaten Medical Services, Cargo Transport
Outlook on the 2024 Problem: Seizing the chance to change the low-pricing model