Skip to main content

 

คมกฤษ ดวงมณี

 

“วงษ์จันทร์ เมชบุตร” และสมาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่ทุ่งกุลา กำลังติดฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่ที่หน้าบ้านวงษ์จันทร์ เพื่อเตรียมนำไปขายให้กับลูกค้าต่างจังหวัดที่สั่งจองข้าวที่สมาชิกกลุ่มปลูก ขณะที่ส่วนหนึ่งยกขึ้นรถกระบะของวงษ์จันทร์เพื่อรอส่งลูกค้า

เกษตรกรรายนี้บอกว่าพักหลังมานี้ข้าวอินทรีย์มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ขณะนี้ห้องทำการของกลุ่มที่ใช้เก็บข้าวบรรจุถุงสุญญากาศนั้นแทบว่างเปล่าเลยทีเดียว

วงษ์จันทร์ เล่าว่าส่วนตัวเป็นคนสนใจการเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เพราะผลผลิตขายได้ราคาดีกว่า เมื่อเวลาว่างจึงมักเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้และเปิดรับแนวทางใหม่ ๆ จนเมื่อปี 2560 ภาครัฐมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ขึ้นมา จึงสมัครเข้าร่วมเพียงคนเดียวของหมู่บ้านตานบ ต.ทุ่งกุลา อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ต่อมาไม่นานก็ชักชวนสมาชิกอีก 25 คนเข้าร่วมทำนาแบบอินทรีย์

ช่วงเริ่มโครงการ สมาชิกหลายคนรู้สึกท้อใจเพราะเคยทำแต่นาที่ใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งยังได้ผลผลิตน้อยกว่าเดิมในปีแรกที่เพียง 200 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมราว 350 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ยังโชคดีที่ได้รับเงินอุดหนุน 2,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่

ความรู้สึกดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยความหวัง เมื่อพบว่าปีที่ 2 ผลผลิตกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนกลับสู่ปกติที่ 350 กิโลกรัมต่อไร่ในปีที่ 3 ซึ่งเทียบเท่าได้กับนาเคมี และปีที่ 4 บางรายทำผลผลิตได้มากกว่าด้วยซ้ำ

“บางคนได้ 400 ตอนนี้นะ บางคนเขาได้ไร่ละตัน ได้จริง ๆ เขาที่มีนาน้อยแล้วก็ปลูก อย่าง ถั่วพร้า 3-4 รอบ งอกเสร็จ พอได้ปุ๋ย กลับ ไถหว่านอีก โตเสร็จ ไถคว่ำ ๆ ก็ได้ไร่ละตันก็มี” วงษ์จันทร์เล่า

ช่วงเริ่มโครงการ สมาชิกหลายคนรู้สึกท้อใจเพราะเคยทำแต่นาที่ใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งยังได้ผลผลิตน้อยกว่าเดิมในปีแรกที่เพียง 200 กิโลกรัมต่อไร่

การใช้ "ปุ๋ยหมักจากสมุนไพร" เป็นอีกข้อได้เปรียบหนึ่งของการทำนาอินทรีย์ วงษ์จันทร์บอกว่าได้มาจากเครือข่ายอินทรีย์ที่ อ.สังขะ ใช้สมุนไพรถึง 31 ชนิด ซึ่งมี สาบเสือ สะเดา และบอระเพ็ดรวมอยู่ ที่นอกจากเพิ่มสารอาหารให้ดินที่ต้นข้าวนำไปใช้แล้ว ยังช่วยไล่ศัตรูพืชอีกทาง แถมทำให้ข้าวสุกเร็วกว่าการทำนาทั่วไป ช่วยย่นช่วงต้นข้าวเขียวที่มีแมลงก่อกวนมากให้สั้นลง เท่ากับว่าการใช้ปุ๋ยหมักทำหน้าที่ได้ถึง 2 หน้าที่

หากต้องการเร่งรวง ก็ทำฮอร์โมนไข่ ซึ่งผลิตเองในหมู่บ้าน ส่วนปุ๋ยคอกจากมูลโคและกระบือก็มีอยู่แล้วจากปศุสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยง ลดต้นทุนไปได้มาก ดังนั้นแม้ข้าวอินทรีย์สามารถขายได้ราคาดีกว่าข้าวทั่วไป ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าทำให้ตั้งราคาใกล้เคียงกับข้าวเคมีได้สบาย ๆ

วงษ์จันทร์บอกว่า ความปลอดภัยของข้าวที่สมาชิกกลุ่มปลูกนั้นผ่านการตรวจสอบจาก บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น บริษัทประเมินความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและการรับผิดชอบต่อสังคมระดับโลก พร้อมทั้งหยิบใบรับรองออกมาให้ดู และเผยว่ากลุ่มได้รับทุกปี มาตรฐานที่คงไว้ไต้ตลอดนี้ทำให้เกษตรกรรายอื่นใน ต.ทุ่งกุลา สนใจอยากเปลี่ยนมาเป็นนาอินทรีย์ แถมยังดึงดูดบุคคลนอกพื้นที่ให้มาศึกษาดูงานด้วย

สิ่งที่วงษ์จันทร์แนะนำและย้ำให้คนที่มาสอบถามข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนการทำนา คือ การปรับปรุงคุณภาพของดิน การหาวิธีการใหม่ ๆ สำหรับการปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุน และจะต้องทำใจในปีแรกซึ่งเป็นปีที่ดินเริ่มฟื้นตัวจากสารเคมีที่จะได้ผลผลิตน้อยอย่างที่กล่าวไป