ในช่วงที่อากาศร้อนจัด ต้องระวังหลังงานวิจัยพบว่า 'สภาพอากาศร้อน' ส่งผลให้ 'ระบบภูมิคุ้มกัน' ของร่างกายลดต่ำลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายมากขึ้น
ดร.แดเนียล ริกส์ รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ และทีมวิจัยเผยถึงข้อค้นพบใหม่ว่า สภาพอากาศร้อนมีความเกี่ยวข้องกับการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย รวมถึงการลดลงของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอและไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอในงานประชุมประจำปีของสมาคมโรคหัวใจของอเมริกัน ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่าง ‘สภาพอากาศร้อน’ กับ ‘การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย’ รวมถึงระดับของเซลล์เม็ดเลือด และตัวบ่งชี้ถึงอาการอักเสบ นับเป็นความก้าวหน้าในการปกป้องชีวิตผู้คนให้พ้นอันตรายจากสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหัวใจวาย โรคเส้นเลือดสมอง และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น
ดร.แดเนียล หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าอุณหภูมิสูงมีผลต่อการลดลงของระบบภูมิคุ้มกัน และมีส่วนต่อความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคหัวใจ เขากล่าวว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน บางชนิดปล่อยโปรตีนที่เรียกว่า “ไซโตไคน์” เพื่อลดการอักเสบ ขณะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวอื่นๆ จะโจมตีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย และไวรัส โดยตรง
ระดับของไคโตไซน์ และเซลล์ภูมิคุ้มกัน สามารถบอกถึงการเพิ่มขึ้นของกลไกการป้องกันร่างกายในการตอบสนองกับการคุกคามของสิ่งแปลกปลอม
ทีมวิจัยศึกษาตัวอย่างเลือดจากผู้ที่เข้าร่วมการทดลอง 624 คน ในระหว่างฤดูร้อนของปี 2018 และ 2019 โดยผู้เข้าร่วมทดลอง มีอายุระหว่าง 20-70 ปี ร้อยละ 77 เป็นคนผิวขาว ร้อยละ 18 ผิวดำ และร้อยละ 59 เป็นผู้หญิง
นักวิจัยวัดค่าไคโตไซน์จำนวน 11 ชนิด และเซลล์ภูมิคุ้มกัน 9 ชนิด พบว่า ค่าของเลือดสัมพันธ์กับสภาพอากาศ ในวันที่อากาศร้อน ระดับไคโตไซน์จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงหนึ่งในตัวบ่งชี้หลัก คือ TNF-alpha ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็สูงขึ้นด้วย
ดร.แดเนียลกล่าวว่า อากาศร้อนยังเกี่ยวข้องกับระดับของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น โมโนไซต์ ซึ่งทำหน้าที่ลดอาการอักเสบ โดยที่ความร้อนเกี่ยวข้องกับการลดลงของปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่กำจัดเซลแปลกปลอมที่เรียกว่า บีเซลล์ หมายความว่า อากาศร้อนทำให้ร่างกายอ่อนแอและไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น
ดร.แดเนียลประหลาดใจต่อการที่เซลล์เม็ดเลือดหลายชนิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศร้อน ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับความร้อนอาจทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของโปรตีนที่ช็อกจากความร้อน และจะส่งผลต่อการตอบโต้กับการติดเชื้อและการเกิดอาการอักเสบ
ดร.จูดิธ ลิซท์มาน คณบดีคณะระบาดวิทยาโรคเรื้อรัง มหาวิทยาลัยสาธารณสุขเยล ซึ่งศึกษาผลกระทบจากสภาพอากาศต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมอง บอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่คลื่นความร้อนซึ่งส่งผลต่อการป่วยหรือการเสียชีวิต แต่คุณูปการของการวิจัยชิ้นนี้ คือ การทำความเข้าใจในระดับร่างกาย และกลไกซึ่งอาจมีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
ดร.แดเนียลกล่าวว่า โดยรวมแล้วการศึกษานี้ได้เปิดพื้นที่ใหม่ของการวิจัย เพื่อ “ทำความเข้าใจผลกระทบของความร้อนจากสภาพอากาศที่มีต่อร่างกายที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากนักวิจัยเริ่มเข้าใจวิธีที่สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพ บางทีเราอาจสามารถหาวิธีการใหม่ๆ ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้”
ดร.แดเนียลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะเพิ่มจำนวนวันที่มีสภาพอากาศร้อนสุดขีดให้มากขึ้น
“การวิจัยของเราในอนาคตจะต้องโฟกัสไปที่ผลกระทบระยะยาวของอากาศร้อนสุดขั้วต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและการอักเสบ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ” ดร.แดเนียลกล่าว
ที่มา
Study offers insight on how hot weather impairs the immune system.