Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

 

ผู้อ่านหลายคนคงจำเหตุการณ์ที่เคยถูกดุหรือตำหนิได้
หลายคนจำความรู้สึกเสียใจ โกรธ อับอาย
หลายคนจำทุกถ้อยคำที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเหล่านี้
หลายคนจำสีหน้าและน้ำเสียงของผู้พูด

ไม่ว่าจะจำได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เรายังพกติดตัวมาจนวันนี้คือ “จิตใจที่ถูกทำร้าย”
แม้ในวันนี้บาดแผลจะจางลงจนแทบมองไม่เห็น แต่ในวันนั้นที่เราเจ็บปวดมาก เราทำอย่างไร
และหากว่าเด็ก ๆ ใกล้ตัวหรือไกลตัวของเรากำลังประสบปัญหาเดียวกัน เราจะทำอย่างไรดี

 

ก่อนอื่น ลองมาทำความเข้าใจคำว่า “ทำร้ายจิตใจ” หรือ “ทำร้ายความรู้สึก” กัน
เว็บไซต์ Psychology Today ระบุว่าพฤติกรรมที่สามารถทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นได้ มีดังนี้

1.    คอยควบคุมการกระทำของอีกฝ่าย
2.    ข่มขู่คุกคามจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัย
3.    ไม่ยอมให้อีกฝ่ายใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น
4.    ดูถูกเหยียดหยาม
5.    ล้อเลียน ทำให้อับอาย
6.    คอยจับผิดและตำหนิอยู่เสมอ
7.    ขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายประสบความสำเร็จ
8.    ทำให้อีกฝ่ายสูญเสียความมั่นใจและรู้สึกผิดอยู่เสมอ
 

พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้ผู้ถูกกระทำเจ็บปวด เครียด กังวล ไม่มั่นใจ ตลอดจนถึงไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนมาอ่านหนังสือภาพที่พูดถึงเรื่อง “ความเจ็บปวดทางจิตใจ” และ “การทำร้ายจิตใจ” เพื่อย้ำเตือนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทบทวนอารมณ์ของตนก่อนพูดหรือแสดงกิริยาต่าง ๆ

 

1. “คู่หูแพร์สองผลกับส้มเพื่อนใหม่” 
ของ แอนนา แมคเกรเกอร์ (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์คิดดี้)


 

ลูกแพร์สองผลเป็นเพื่อนกัน เล่นเกมที่ต้องเล่นเป็นคู่ แต่วันหนึ่งส้มก็มาขอเล่นด้วย
แพร์ผลเล็กยินดีรับส้มเข้ากลุ่ม แต่แพร์ผลใหญ่ไม่ค่อยเต็มใจนัก

เกมที่แพร์ทั้งสองรู้จักมีแต่เกมที่เล่นสองคน พอมีเพื่อนใหม่ก็ต้องมีคนที่ไม่มีคู่เสมอ
แพร์เล็กและส้มสนุกสนานกันจนไม่ทันสังเกตว่าแพร์ใหญ่รู้สึกอึดอัด

วันหนึ่งแพร์ใหญ่ออกจากกลุ่มไปเล่นกับถั่วลันเตาสามเมล็ด จึงได้รู้จักเกมแบบกลุ่ม
แพร์ใหญ่กลับมาหาแพร์เล็กและส้มที่กำลังคิดถึงเธออยู่พอดี และสอนทั้งสองให้เล่นเกมใหม่ ๆ ด้วยกัน



 

 

 

อ่านแล้วคิดว่าส้มตั้งใจมาแทนที่แพร์ใหญ่ไหมคะ
ส้มคอยกีดกันแพร์ใหญ่ออกจากแพร์เล็กหรือเปล่า

แม้ว่าส้มจะไม่ได้มีเจตนาไม่ดี (เพราะส้มก็คิดถึงแพร์ใหญ่ที่หนีไปเล่นกับถั่วลันเตาเหมือนกัน) แต่ส้มก็ไม่ได้นึกถึงจิตใจของแพร์ใหญ่เลย
เรื่องนี้จึงช่วยเตือนผู้อ่านว่า “อย่าลืมใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นด้วย”

 


2. “ฉันขอเล่นกับเธอได้ไหม” 
ของ คาริล ฮาร์ต และ โทนี นีล (สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์)

 


อาเธอร์สัญญาว่าจะเล่นกับสปาร์เคิล แต่สเกาต์ก็อยากเล่นกับทั้งสองคนด้วย
อาเธอร์ตอบตกลง แต่สปาร์เคิลปฏิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่ได้ วันนี้อาเธอร์จะเล่นกับฉันเท่านั้น”
สเกาต์พยายามขอเล่นด้วยอีกครั้ง แต่สปาร์เคิลก็บอกว่า “ฉันจะเล่นกับอาเธอร์เท่านั้น”

ไม่ว่าสเกาต์จะพยายามเพียงใด สปาร์เคิลก็ไม่ยอมให้เล่นด้วย อาเธอร์จึงไปเล่นกับสเกาต์สองคน
สปาร์เคิลจึงส่งบัตรเชิญให้เพื่อนทั้งสองกลับมาเล่นด้วยอีกครั้ง แล้วทุกคนก็เล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน

ตอนจบเรื่อง สปาร์เคิลขอโทษเพื่อน ๆ อย่างจริงใจและได้รับการอภัย



 

 

หนังสือเล่มนี้โครงเรื่องคล้ายกับคู่หูแพร์ฯ แต่เราจะเห็นทั้งเจตนาและผลของการกระทำชัดเจนกว่า
สปาร์เคิลคือ “คนใจร้าย” ที่กีดกันเพื่อน ผลที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครเล่นกับเธอ

ดังนั้น เธอจึงขอโอกาสแก้ตัวและขอโทษที่ทำร้ายจิตใจสเกาต์
เมื่ออ่านเล่มนี้แล้ว ผู้อ่านก็จะรู้ว่า “การกีดกันเพื่อนออกไปจะทำให้เพื่อนเสียใจ”
และผู้อ่านที่รู้สึกว่า “สปาร์เคิลใจร้ายจัง” ก็คงไม่อยากทำตัวเหมือนคนใจร้ายแน่ ๆ

 

 

3. “แมวน้อยไร้ชื่อ” 
ของ ฟุมิโกะ ทาเคชิตะ และ นาโอโกะ มาจิดะ (สำนักพิมพ์อมรินทร์ คิดส์)

 

 

แมวจรลายสลิดหางกุดตัวหนึ่งน้อยใจที่ตัวเองไม่มีชื่อ ในขณะนี้แมวทุกตัวในเมืองมีชื่อ
แมวส้มชนปุยชื่อลีโอ แมวลายวัวชื่อเก็นตะ แมวสามสีชื่อไฮดี้และคลาร่า

จริง ๆ ทุกอย่างมีชื่อเรียกไปหมดเลย หมาก็มีชื่อ ดอกไม้ก็มีชื่อ แล้วทำไมมันไม่มีชื่อนะ

คำที่ผู้คนใช้เรียกมันก็ไม่ใช่ชื่อหรอก เพราะพวกเขาเรียกมันว่า  “แมวจรจัด” “แมวสกปรก” “แมวน่าเกลียด” บางทีก็ส่งเสียงเวลาเจอมันว่า “เฮ้ย!” “ไป!” “ชิ่ว!”

วันหนึ่งแมวน้อยหลบฝนอยู่ใต้ม้านั่ง เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก้มลงคุยกับมัน
ตอนนั้นเองที่แมวน้อยรู้ว่า มันไม่ได้ต้องการชื่อหรอก มันต้องการคนที่จะเรียกชื่อมันต่างหาก

 



 

เด็ก ๆ บางคนอาจชอบ “ตั้งฉายา” ให้เพื่อน และทุกคนที่มีฉายาก็มักไม่ค่อยพอใจกับฉายาเหล่านี้หรอกนะ
เพราะฉายาที่ว่ามักเป็นคำล้อเลียนลักษณะทางกายหรือพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนอื่น

หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายความรู้สึกของผู้ที่ถูกเรียกด้วยคำที่ใจร้ายได้ดีทีเดียว
ผู้อ่านจึงจะรู้ว่า “แม้ว่าเราจะรู้สึกสะใจหรือขบขัน แต่คนอื่นกำลังเสียใจอยู่”
และหากพบเพื่อนที่เสียใจจากการถูกล้อ เราสามารถยื่นมือไปหาและพูดคุยกับเขาด้วยความจริงใจได้


จะเห็นว่าหนังสือภาพช่วยเตือนสติผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ว่าอย่าทำร้ายจิตใจผู้อื่น และสอนให้เห็นใจผู้ที่ถูกทำร้ายจิตใจ แต่ยังไม่ปรากฏภาพการรับมือพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา


ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ หากถูกทำร้ายจิตใจและรับมือไม่ได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
เพราะจิตใจของมนุษย์นั้นเปราะบาง เมื่อใจดีกับผู้อื่นแล้ว เราต้องรู้จักใจดีกับตัวเองด้วยนะ

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
สนพ. 'Barefoot Banana' และหนังสือภาพเพื่อความหรรษา
เข้าใจเมื่อจากลา : หนังสือภาพและความสูญเสีย
‘ชุมชนหนังสือภาพ’ แห่งเมืองเชียงใหม่
ในวันที่โลกโหดร้าย ยังมี 'หนังสือภาพ' เยียวยาหัวใจ
สิ่งแวดล้อมและหนังสือภาพ
หนังสือภาพสำหรับเด็ก : หนังสือภาพสำหรับทุกคน
 

The Opener, วิริญจน์ หุตะสังกาศ, หนังสือภาพ, การอ่าน, หนังสือเด็ก, การเรียนรู้, จิตใจ, ความเจ็บปวด, ทำร้ายจิตใจ, เด็ก