Skip to main content

เด็กไทยเริ่มมีภาวะ ‘อ้วน-เตี้ย’ มากขึ้น รายงานของกระทรวงสารณสุขเผย ปัจจุบันเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะทุพโภชนการ ทั้ง "อ้วน เตี้ย ผอม" กระทบต่อการเจริญเติบโต ระดับสติปัญญา และการป่วยเรื้อรังในอนาคต

กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเด็กปฐมวัยของไทย ในช่วงอายุระหว่าง 0-5 ปี พบว่า มีภาวะ ‘เตี้ย’ เป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 12, ร้อยละ 8.7 อยู่ในภาวะ ‘เริ่มอ้วน’ และ ‘อ้วน’ ขณะที่ร้อยละ 6.4 อยู่ในภาวะ ‘ผอม’

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาวะ ‘อ้วน-เตี้ย’ ในเด็กปฐมวัย โดยในปี 2563 มีเด็กร้อยละ 9.3 เริ่มอ้วนและอ้วน, ร้อยละ 10.5 เตี้ย และร้อยละ 5.6 มีภาวะผอม

ปี 2564 เด็กร้อยละ 9.3 เริ่มอ้วนและอ้วน, ร้อยละ 10.6 เตี้ย และร้อยละ 5.5 มีภาวะผอม, ในปี 2565 เด็กร้อยละ 9.5 เริ่มอ้วนและอ้วน, ร้อยละ 11 เตี้ย และร้อยละ 5.7 มีภาวะผอม ปี 2566 (ข้อมูลถึง ก.พ.) พบว่า เด็กร้อยละ 9.3 เริ่มอ้วนและอ้วน, ร้อยละ 11.3 เตี้ย และร้อยละ 5.4 มีภาวะผอม

เว็บไซต์ Hfous เจาะลึกระบบสุขภาพ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีของไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งพบว่า มีสัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่อยู่ในภาวะเตี้ย ร้อยละ 12.5, น้ำหนักเกิน ร้อยละ 10.9 และผอม ร้อยละ 7.2

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ยังแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของเด็กโต อายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มความสูงสมส่วนที่ลดต่ำลง จากร้อยละ 64.3 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 56.3 ในปี 2566 โดยร้อยละ 13 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 10.4 เตี้ย และร้อยละ 4.8 มีภาวะผอม ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ปัญหา ‘อ้วน-เตี้ย-ผอม’ ของเด็กไทย อาจมีสาเหตุจากการบริโภคอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย จากการสํารวจในปี 2551-2552 พบว่า หญิงตั้งครรภ์บริโภคข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ไม่เพียงพอ ขณะที่เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี มีเพียงการบริโภคเฉพาะเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กอายุ 0–23 เดือน มีเพียงร้อยละ 24.1 ที่ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม และร้อยละ 66.3 ของเด็กอายุ 6-23 เดือนได้รับอาหารที่เพียงพอ สอดคล้องกับผลการสํารวจสุขภาพเด็กที่พบว่า มีเพียงร้อยละ 33.7 ของเด็กไทยอายุ 1 ปี-1 ปี 11 เดือนที่ได้กินนมแม่อย่างเพียงพอ ขณะที่เด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนกินอาหารมื้อหลักไม่ครบ 3 มื้อ โดยส่วนใหญ่ไม่กินอาหารเช้า และกินผักผลไม้ไม่เพียงพอในแต่ละวัน

 

ภาพจาก pixel.com โดย Ron Lach

ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตั้งตัวชี้วัดส่วนสูงของเด็กโตอายุ 19 ปี โดยกำหนดส่วนสูงเพศชายไว้ที่ 171 ซม.ขึ้นไป และเพศหญิง 161 ซม.ขึ้นไป ซึ่งข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์ (Health Data Center-HDC) ต.ค. 2565-ก.พ.2566 พบว่า ค่าเฉลี่ยส่วนสูงของเด็กไทยอายุ 19 ปี เพศชายเท่ากับ 166.8 ซม. และเพศหญิง 157.8 ซม. ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กําหนด โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า เด็กปฐมวัยของไทยยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน โดยได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เด็กที่ขาดสารอาหาร จะทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายหยุดชะงัก และยังส่งผลให้มีระดับสติปัญญาต่ำ และเด็กที่ได้รับอาหารมากเกินไป ก็เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าว กรมอนามัยได้ศึกษารูปแบบความสำเร็จในการจัดการปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุ 0–5 ปีที่ทั้งในและต่างประเทศ มาพัฒนาเป็นโมเดล “พลัง 3 สร้าง สร้างเด็กปฐมวัยไทยแก้ไขปัญหาเตี้ย ผอม อ้วน” ประกอบด้วย การสร้างนโยบายระดับตำบล สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง และ สร้างความร่วมมือด้านทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ขับเคลื่อนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนนำไปแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก

รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การลงทุนดูแลเด็กปฐมวัยในช่วงแรกของชีวิต เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและต้องดำเนินการอย่างดีที่สุด