Skip to main content

ผลสำรวจของแฟลตฟอร์มตัดต่อวิดีโอ เผยว่า “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะ “หมดไฟ” หรือ 'burn out' อย่างหนัก ทั้งแบบรายไตรมาส รายเดือน รายสัปดาห์ และรายวันจากการผลิตเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย และพบว่า ผู้ผลิตคอนเทนต์เพียงร้อยละ 37 ที่ได้รับรายได้แบบเต็มเวลาจากงานที่ทำ

การศึกษาของแฟลตฟอร์มตัดต่อวิดีโอชื่อ Tasty Edits เมื่อปี 2023 เผยว่า มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ถึงร้อยละ 79 ที่เผชิญภาวะ 'หมดไฟ' ซึ่งหากรวมผู้ผลิตคอนเทนต์ที่กำลังดิ้นรนกับรายได้จิ๊บจ้อยที่ได้จากแฟลตฟอร์ม ตัวเลขของผู้ที่หมดไฟจะสูงถึงร้อยละ 83

Tasty Edits ทำการสำรวจเชิงลึก โดยสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ผลิตคอนเทนต์ 163 คน จากการสำรวจคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวน 29,000 คน เพื่อศึกษาถึงวิธีที่พวกเขารับมือกับภาวะหมดไฟและปัญหาสุขภาพจิต

“แม้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเติบโตและแพร่หลายอย่างมาก แต่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายต่างก็เผชิญกับ 'ภาวะหมดไฟ' ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรง มีรายงานว่าคนกลุ่มนี้ต่างหมดเรี่ยวแรงและหมดความสนใจในงานที่ทำ และถอดใจกับการพยายามสร้างเนื้อหาขึ้นมาหมุนเวียนในแฟลตฟอร์มออนไลน์” อเล็กซ์ เลฟโควิทซ์ ผู้ก่อตั้ง Tasty Edits กล่าว

ผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งหมายรวมถึงคนที่ผลิตเนื้อหาให้กับแฟลตฟอร์ม อย่าง ยูทูบ ติ๊กต่อก อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ต่างมีปัญหา หมดไฟ ซึ่งเกิดจากสาเหตุไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้น คือ ความกดดันจากการที่ต้องมีคอนเทนต์สดใหม่ป้อนแฟลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ตลอด ความตึงเครียดทางการเงินจากตารางการทำงานที่คาดเดาไม่ได้ ปัญหาสมดุลชีวิตและงาน และความคาดหวังจากสปอนเซอร์ ลูกค้า และผู้ชม

ผลการสำรวจพบว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์ถึงร้อยละ 48 มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ (ไม่ถึง 35,000 บาท ) จากงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาบนแฟลตฟอร์ม ร้อยละ 15 มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 1,000 – 2,500 ดอลลาร์ (35,000 – 88,000 บาท) และร้อยละ 37 มีรายได้ต่อเดือนเกินกว่า 2,500 ดอลลาร์ขึ้นไป

ในกลุ่มร้อยละ 37 นั้นทำงานแบบเต็มเวลา โดยร้อยละ 57 ของคนกลุ่มนี้โพสต์คอนเทนต์สัปดาห์ละหลายครั้ง ร้อยละ 70 ใช้เวลาเกินกว่า 4 ชม.ต่อวันในการสร้างคอนเทนต์, ร้อยละ 63 ใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 4 ชม.กับกลยุทธ์การสร้างรายได้จากแฟลตฟอร์ม และร้อยละ 75 ต่างเคยผ่านการหมดไฟ ซึ่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีรายได้ต่ำกว่า พบว่า สัดส่วนของการหมดไฟสูงขึ้นถึงร้อยละ 83

หนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ตอบแบบสำรวจว่า “การหมดไฟสำหรับฉัน เหมือนกับความคิดสร้างสรรค์หยดสุดท้ายในสมองมถูกดูดออกไปจนเหือดแห้ง ฉันอยากจะหยุดอัพโหลดและปล่อยให้ทุกอย่างเดินช้าลง”

 

สาเหตุการ 'หมดไฟ' ของผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์

สาเหตุที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีหลายสาเหตุ จากรายงานภาวะสุขภาพจิตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ปี 2023 พบว่า เกิดจาก

1. ความกดดันที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ร้อยละ 39 ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์รู้สึกกดดันที่ต้องทำให้ยอดผู้ติดตามเติบโตตลอดเวลา

2. คอมเมนต์เชิงลบ

จากการสำรวจพบว่า ความเห็นในเชิงลบ เป็นสาเหตุหลักของการหมดไฟรายวันหรือรายสัปดาห์

3. ทัศนคติเรื่องความเร็ว

ผลสำรวจพบว่า เมื่อเป็นพาร์ทเนอร์ชิปกับแบรนด์ ร้อยละ 79 ของผู้ผลิตคอนเทนต์เจอกับเดดไลน์ที่เร่งด่วน แม้จะอยู่ในภาวะที่หมดไฟ หรือกำลังมีปัญหาสุขภาพจิตก็ตาม

นอกจากนั้น ยังพบสาเหตุอื่นๆ ที่นำไปสู่การหมดไฟ หรือปัญหาสุขภาพจิตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ได้แก่

การติดกับดักการเปรียบเทียบ: โซเชียลมีเดีย สามารถสร้างกับดักการเปรียบเทียบ จากการที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องแข่งกับผู้ผลิตเนื้อหารายอื่น และเกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ

การศึกษาของรอยัลโซไซอิตี้เพื่อสุขภาพจิต พบว่า 'อินสตาแกรม' เป็นโซเชียลมีเดียที่อันตรายที่สุดต่อสุขภาพจิตของเยาวชน เนื่องจากสร้างความรู้สึกเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับคนอื่นจากภาพเพียงส่วนเสี้ยวของชีวิต ทำให้ไม่มีความสุข ขณะเดียวกันก็ทำให้สนใจแต่ตัวเองและสรรเสริญความสำเร็จของตัวเอง

 

วิธีที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์รับมือกับภาวะ 'หมดไฟ'

องค์การอนามัยโลก นิยาม 'ภาวะหมดไฟ' ว่า หมายถึง สภาพอารมณ์ จิตใจ และร่างกายที่เหนื่อยอ่อนจากการเผชิญความเครียดซ้ำๆ อยู่เป็นเวลานาน

รายงานภาวะสุขภาพจิตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ปี 2023 ที่ทำการสำรวจผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวน 600 คน พบว่า ร้อยละ 43 เผชิญภาวะหมดไฟแบบรายเดือน หรือรายไตรมาส ขณะที่ร้อยละ 29 อยู่ในสภาพหมดไฟแบบรายวันและรายสัปดาห์

การสำรวจสอบถามถึงวิธีที่บรรดาคอนเทนต์ครีเอเตอร์รับมือกับภาวะหมดไฟ พบว่า ร้อยละ 98 ใช้วิธีหยุดพักไปเลยและให้เวลาช่วยเยียวยา, ร้อยละ 93 ใช้การออกกำลังกาย, ร้อยละ 63 จ้างเอาท์ซอร์สทำงานแทน และร้อยละ 42 ไปพบผู้เชี่ยวชาญปัญหาสุขภาพจิต

 

คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะดูแลสุขภาพใจของตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย

ดร.มิเชลลา ดันบาร์ นักจิตวิทยา อธิบายว่า ภาวะหมดไฟจากโซเชียลมีเดีย เป็นรูปแบบของความเหนื่อยล้าที่เกิดจากโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อเราใช้เวลามากเกินไปกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค

สำหรับวิธีที่จะช่วยให้บรรดาคอนเทนต์ครีเอเตอร์ รวมถึงผู้ใชงานโซเชียลมีเดีย ดูแลสุขภาพใจของตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย ทำได้โดย

1. จัดสรรเวลาที่ชัดเจน โดยกำหนดหรือจำกัดเวลาที่อยู่กับสมาร์ทโฟน หรือโซเชียลมีเดีย ปิดการแจ้งเตือน และลบแอพที่คอยรบกวน

2. ตั้งเวลาโพสต์คอนเทนต์อัตโนมัติ เพื่อให้ช่วงเวลาที่ตัดขาดจากโซเชียลมีเดียเป็นการตัดขาดจริงๆ

3. เชื่อมต่อกับโลกออฟไลน์ โดยจัดสรรเวลาให้กับตัวเอง ออกไปพบปะกับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่อยู่บนออนไลน์

4. จัดการเวลาและสมดุลชีวิตกับงาน เส้นแบ่งของการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ มักจะเบลอหรือไม่ชัดเจนระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารจิตวิทยาประยุกต์ ระบุว่า คนที่มีสมดุลชีวิตและงาน จะรู้สึกพอใจในงานที่ทำมากกว่า และพบกับภาวะหมดไฟน้อยกว่า

 

แฟลตฟอร์ม ควรดูแลสุขภาพใจของคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างไร?

รายงานภาวะหมดไฟของ Tasty Edits เสนอว่า แฟลตฟอร์มและแบรนด์ต่างๆ ควรมีส่วนช่วยแก้ปัญสุขภาพจิตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์โดย

1. การจ่ายเงินที่เป็นธรรม และมีเดดไลน์ที่ยืดหยุ่น

ร้อยละ 23 ของผู้ผลิตคอนเทนต์ระบุว่า แบรนด์ที่พวกเขาทำงานด้วย เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะหมดไฟ ซึ่งทางออกคือ ทั้งแบรนด์และแฟลตฟอร์มควรจ่ายเงินอย่างเป็นธรรมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ และมีเดดไลน์ที่ยืดหยุ่น รวมถึงให้อิสระในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานมีความสุขมากขึ้นและได้คอนเทนต์ที่คุณภาพดีขึ้นด้วย

 

2. มีอัลกอรึทึมที่คงเส้นคงวากว่านี้

ร้อยละ 23 ของผู้ผลิตคอนเทนต์ระบุว่า หมดแรงที่จะทำคอนเทนต์ เนื่องจากต้องคอยปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับอัลกอรึทึมของแฟลตฟอร์มที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา รวมถึงเป็นการปรับเปลี่ยนที่ไม่เป็นจริงอีกด้วย

รายงานของ Tasty Edits เสนอให้แฟลตฟอร์มรักษาความคงเส้นคงวาของอัลกอรึทึมให้มากกว่านี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ยังคงรักษาการเชื่อมต่อกับผู้ติดตามของพวกเขาได้โดยที่ไม่เกิดภาวะหมดไฟ

 

3. การให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพทางจิตในแฟลตฟอร์ม

ครีเอเตอร์จำนวนไม่น้อย ชื่นชอบระบบเตือนให้พักของ ติ๊กต่อก ร้อยละ 19 ของผู้ผลิตคอนเทนต์เรียกร้องให้แพลตฟอร์มต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต เช่น มีระบบเตือนให้หยุดพักการใช้งานอยู่ภายในแอพ, การส่งเสริมคอนเทนต์ด้านสุขภาพจิต และมีคู่มือดูแลสุขภาพจิตสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์