Skip to main content

'โซเชียลมีเดีย' นอกจากจะเชื่อมต่อเรากับคนอื่นๆ และแบ่งปันเรื่องราว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นที่ให้คนที่มีบุคลิก 'หลงตัวเอง' ได้แสดงออกถึงตัวตนที่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นคนที่โลกหมุนรอบตัวเอง

การสังเกตพฤติกรรม 'หลงตัวเอง' บนโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีวิธีพิจารณาจากรูปแบบและพฤติกรรมบางอย่างได้

 

6 วิธีในการระบุลักษณะที่อาจบ่งชี้ถึง 'ความหลงตัวเอง' ของคนบนโซเชียลมีเดีย

 

1. โปรโมตตัวเองมากเกินเหตุ

บุคคลที่มีบุคลิก หลงตัวเอง มักใช้โซเชียลมีเดียโปรโมตตัวเองมากจนเกินพอดี และมักแชร์โพสต์มากมายเกี่ยวกับรูปลักษณ์ หรือความสำเร็จของตัวเองเท่านั้น โดยโพสต์บ่อยๆ ถี่ๆ รัวๆ เพื่อต้องการยืนยันและให้ได้รับความสนใจ

 

2. สร้างภาพความเพอร์เฟคต์

บุคคลที่ หลงตัวเอง มักพิถีพิถันในการสร้างภาพลักษณ์ออนไลน์ของตัวเอง พวกเขาจะแชร์เฉพาะรูปถ่ายที่ดูดี เรื่องราวความสำเร็จ และช่วงเวลาที่ดูไฉไลอลังการเท่านั้น โดยปกปิดจุดอ่อนหรือสิ่งที่เป็นความท้าทายเอาไว้

 

3. ไร้ความเห็นอกเห็นใจในการโต้ตอบออนไลน์

สังเกตดูว่าบุคคลนั้นตอบสนองต่อโพสต์ของผู้อื่นอย่างไร คนที่หลงตัวเองอาจไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่รับรู้เรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของคนอื่น หรือพยายามเบี่ยงเบนบทสนทนาให้มาอยู่ที่ตัวเอง

 

4. หาความชอบธรรมด้วยยอดไลค์และคอมเมนต์

คนที่หลงตัวเองมักประเมินคุณค่าตัวเองด้วยจำนวนยอดไลค์ คอมเมนต์ และยอดแชร์ที่มีคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย พวกเขาอาจรู้สึกขุ่นเคืองใจหากโพสต์ของตัวเองไม่ได้รับความสนใจ หรือได้รับการชื่นชมตามที่คาดหวัง

 

5. ชอบเปรียบเทียบและเอาชนะ

คนที่หลงตัวเอง มักจะหมกมุ่นอยู่กับการเปรียบเทียบและชิงดีชิงเด่นกับคนอื่น และมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ หรืออยู่เหนือกว่าความสำเร็จหรือประสบการณ์ของผู้อื่นเสมอ พวกเขาอาจรู้สึกจำเป็นต้องพิสูจน์ความเหนือกว่าของตัวเองกับคนอื่นในด้านต่างๆ ของชีวิต

 

6. ฉกฉวยโอกาสและละเมิดผู้อื่น

คนที่หลงตัวเอง จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อควบคุมสถานการณ์ คนเหล่านี้อาจนำรายละเอียดที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้ข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง

 

การสังเกตบุคลิกภาพของคนที่ 'หลงตัวเอง' บนโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ถูกต้องแม่นยำ 100% แต่ก็ช่วยให้เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของการนำเสนอตัวเองออนไลน์ของคนกลุ่มนี้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องระมัดระวังในการตีความและไม่ด่วยสรุปอะไรเร็วจนเกินไป

โปรไฟล์บนโซเชียลมีเดีย อาจสะท้อนตัวตนของคนๆ นั้นได้บางส่วน แต่ไม่ครบถ้วน บางคนอาจแสดงลักษณะบางอย่างของความหลงตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกภาพแบบนั้น

หากสงสัยว่าใครที่มีอาจมีแนวโน้มหลงตัวเอง ควรใช้เวลาประเมินพฤติกรรมของพวกเขาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ก่อนตัดสิน และหากจำเป็น อาจลองเริ่มต้นด้วยการพูดคุยอย่างเปิดเผยและด้วยความเคารพ เพื่อเข้าใจในแรงจูงใจและเจตนาของคนกลุ่มนี้มากขึ้น