Skip to main content

มิเชล ฮอฟฟ์มาน นักเขียนนิยายและสารคดีชาวตะวันตก อาศัยอยู่ที่ฮอกไกโดในญี่ปุ่น เขียนบทความลงเจแปนทูเดย์ ระบุว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจของ “ผู้ที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาล” จากการที่มีจำนวน “ผู้สูงอายุ” ป่วยและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในสัดส่วนที่สูงมาก และสูงกว่าชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

ฮอฟฟ์มาน เขียนบทความชื่อ “ญี่ปุ่น มหาอำนาจของการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แม้ผู้สูงวัยจำนวนมากอยากเสียชีวิตที่บ้าน” โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ‘ชูกันเก็นได’  นิตยสารรายสัปดาห์ยอดนิยมของญี่ปุ่น ที่เผยว่า ญี่ปุ่นเป็น "มหาอำนาจ" แห่ง "การเสียชีวิตที่โรงพยาบาล" โดยระบุว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 80 เสียชีวิตในโรงพยาบาล ทั้งที่พวกเขาปรารถนาที่จะจากไปอย่างสงบที่บ้านของตัวเอง

ในบทความเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ มีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในสัดส่วนที่น้อยกว่าญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 35, สหราชอาณาจักร ร้อยละ  40, ฝรั่งเศส ร้อยละ 60

ฮอฟฟ์มานชี้ว่า หนึ่งในตำตอบคงเป็นเพราะที่ญี่ปุ่น ผู้ป่วยเข้าถึงเตียงของโรงพยาบาลได้ง่าย เนื่องจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ครอบคลุมอย่างน่าทึ่ง ฮอฟฟ์มานแย้งว่า แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าจะใช้เป็นเหตุผลอ้างในการเพิกเฉยต่อความปรารถนาที่อยากจะเสียชีวิตบ้านของผู้ป่วยสูงอายุ

มีคำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มาจากความคิดทั่วไปที่ว่า “เมื่อป่วย ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล” ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และไปปิดกั้นทางเลือกอื่นรวมถึงความคิดแบบอื่นๆ การเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงวัยที่โรงพยาบาลจำนวนมาก จึงเกิดจากการขาดความตระหนักต่อทางเลือกอื่นๆ ต่อวาระสุดท้ายของชีวิต

บทความในนิตยสารเก็นไดยกงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ที่ศึกษาสิ่งที่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักใช้เวลาในการจ้องมองมากที่สุด พบว่า โดยทั่วไป หากผู้ป่วยที่อยู่ใกล้หน้าต่าง มักจะมองออกไปนอกหน้าต่าง ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ผนัง มักจ้องมองผนัง หรือเพดาน ซึ่งฮอฟฟ์มานชี้ว่า เป็นการแสดงถึงความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีแต่ความเฉยชา ไร้ความสุข

ฮอฟฟ์มาน เล่าว่า เขาได้พบกับครอบครัวโอซากิที่ปฏิเสธความคิดเรื่องการให้ผู้ป่วยสูงอายุรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลไปจนกระทั่งเสียชีวิต พ่อของ 'มาโกโตะ โอซากิ'  ในวัย 88 ปี ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ตลอดชีวิตของพ่อชอบดื่มสาเก ทุกคืนก่อนนอนพวกเขาจะดื่มสาเกร่วมกัน และนั่งคุยเรื่องเก่าๆ หรือดูการแข่งขันเบสบอลด้วยกัน

เขาเล่าว่ามาโกโตะและภรรยาช่วยกันดูแลพ่อ แต่เนื่องจากที่ในโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้ดื่มสาเก พวกเขาจึงปรึกษากับหมอประจำครอบครัว และเห็นว่าน่าจะ ‘ดีกับพ่อของเขามากกว่า' หากพ่อของจากไปอย่างมีความสุขที่บ้าน มาโกโตะบอกว่า เขาได้อยู่กับพ่อจนลมหายใจสุดท้าย แม้จะยากลำบาก แต่เขาสามารถบอกกับตัวเองได้ว่า “ผมทำดีที่สุดแล้วสำหรับพ่อ'"

ฮอฟฟ์มานกล่าวว่า “วิธีที่เราเผชิญหน้ากับความตายนั้น สำคัญไม่แพ้กับวิธีที่เราเผชิญหน้ากับชีวิต การมีทางเลือกในการเผชิญหน้ากับความตายเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้ากับชีวิต เพราะชีวิตนั้นเกี่ยวกับว่า เราจะเลือกวิธีใช้ชีวิตอย่างไร และ การที่เราเลือกวิธีที่จะตาย อย่างน้อยที่สุด สถานที่ที่คุณจะตาย คุณควรเลือกได้” 

ฮอฟฟ์มานกล่าวว่า การเสียชีวิตในโรงพยาบาลอาจใช้บังคับกับบางคน แต่ไม่ได้หมายว่า ทุกคนจะต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการออกแบบจัดเตรียมบ้านให้เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยนั้น มีสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่แล้วและทำได้ง่ายกว่าที่คิด