งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้หญิงที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีแนวโน้มจะมองตัวเองว่า 'ด้อย' กว่าความสามารถที่มีอยู่
งานวิจัยที่นำโดย ดร.คริสตินา บาวเออร์ และเวโรนิกา จ๊อบ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ออสเตรีย เผยแพร่ในวารสารชั้นนำด้านการเรียนรู้และการสอน (Learning and Instruction) เผยว่า ผู้หญิงที่มาจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ มักประเมินความสามารถของตัวเองว่าด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ แม้ผลงานของพวกเธอจะอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งความเข้าใจผิดนี้ส่งผลให้พวกเธอเสียเปรียบอย่างชัดเจนในสายงานหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะสาขา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) ซึ่งมักมองว่า 'พรสวรรค์' เป็นสิ่งสำคัญ
งานวิจัยนี้ทำการศึกษานักศึกษา 1,600 คนในเยอรมนีและสหรัฐ พบว่า ในบรรดาผู้เข้าร่วมทั้งหมด กลุ่มผู้หญิงจากภูมิหลังเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำ จะประเมินความสามารถของตัวเองต่ำที่สุด แม้ผลการเรียนของพวกเธอจะไม่ต่างจากกลุ่มอื่น
“ผู้ชายที่เรียนเก่งและได้คะแนนดีมักถูกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะ ในขณะที่ผู้หญิงที่มีผลการเรียนใกล้เคียงกันกลับถูกมองว่าขยันมากกว่า ข้อสรุปของเราคือ ภาพลักษณ์ภายนอกและลำดับชั้นทางสังคมมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของตัวเอง” ดร.คริสตินากล่าว
ดร.คริสตินากล่าวว่า การรับรู้ตนเองจากสังคมแบบที่บิดเบือน ส่งผลกระทบมากมาย ทำให้ผู้หญิงมั่นใจในตัวเองน้อยลง ซึ่งลดโอกาสในการประสบความสำเร็จ และส่งผลให้บางอุตสาหกรรมและบางส่วนของสังคมมีผู้ชายครอบงำอยู่มากเกินไป จนขาดความหลากหลาย
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจากภูมิหลังด้อยโอกาสจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองในสายงานที่คาดหวังเรื่อง 'พรสวรรค์' การที่พวกเธอมีระดับความมั่นใจที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มีส่วนร่วมน้อยกว่า เช่น ในสาขา STEM (คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเทคโนโลยี) หรืองานที่ปรึกษาด้านการจัดการ แม้แต่กิจกรรมยามว่างอย่างการเล่นหมากรุก
"มุมมองแบบนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของผู้หญิงเหล่านี้" ดร.คริสตินากล่าว
งานวิจัยเสนอแนะว่า การส่งเสริมคุณสมบัติ เช่น ความเชื่อเรื่อง 'พรแสวง' มากกว่า 'พรสวรรค์' ความขยันหมั่นเพียร และการทำงานหนัก เหนือกว่าความสามารถพิเศษแต่กำเนิด จะสามารถช่วยลดความเสียเปรียบของผู้ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมได้