Skip to main content

ดร.แอนดรูว์ สตีลเล นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขียนบทความลงในเว็บไซต์ของ Polytechnique insights ของสถาบันโปลีเทคนิคแห่งปารีส ตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่งานวิจัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะช่วยการ "ชะลอความแก่ และยืดอายุขัย" ของมนุษย์ให้ยาวนานออกไปจากเดิม โดยยังคงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในช่วยอายุขัยที่ยืดยาวออกมา

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า ในจำนวนของผู้คนบนโลกที่เสียชีวิตราว 150,000 คนต่อวัน เกินกว่า 2 ใน 3 หรือมากกว่า 100,000 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุเนื่องจากการแก่ชรา

เขาอธิบายว่า กระบวนการแก่ชราเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และสมองเสื่อม โดยปัจจัยจากอาหาร การใช้ชีวิต และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคเหล่านี้ แต่มีส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับความแก่ชราที่เป็นไปตามธรรมชาติ การแก่ชราจึงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความทุกข์ทรมานของคนทั่วโลก

มนุษย์ต้องแก่ไปตามวัย ใช่หรือไม่?

คำตอบ: ใช่

กระบวนการแก่ชราเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?

คำตอบ: ไม่ใช่

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า แม้ว่าเราจะมองว่าการแก่ชราเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สิ่งนี้ไม่เป็นความจริงสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด นักชีววิทยามีคำจำกัดของการแก่ชรา นั่นคือ ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามเวลา โดยที่มนุษย์มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 8 ปี อย่างไรก็ตาม มีสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น เต่า ปลา และซาลาแมนเดอร์บางชนิดที่ 'ไม่แก่ชรา' หมายความว่า สัตว์เหล่านี้มีอายุขัยยืนยาวพร้อมกับมีสุขภาพที่ดี

 

เราจะมีอายุขัยยืนยาวได้แค่ไหน?

นักวิจัยพยายามหาคำตอบว่าเราจะมีอายุขัยยืนยาวได้ถึงเท่าไหร่มาตลอด โดยศึกษาจากทั้งข้อมูลประชากรและชีววิทยามนุษย์ แต่อายุขัยที่เคยคาดการณ์ไว้ถูกทลายลงเรื่อยมา และพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 เดือนต่อปี ติดต่อกันมาเกือบ 2 ศตวรรษ

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีชีวิตยืนยาวออกไปได้ถึงกี่ปี แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาจช่วยยืดอายุขัยของเราออกไปได้ และอาจทำให้เราเข้าใกล้กับสภาพ ‘ไม่แก่ชรา’ มากขึ้น

 

วิทยาศาสตร์จะช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ได้จริงหรือ?

คำตอบ: จริง

ดร.แอนดรูว์เผยว่า ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบวิธีชะลอกระบวนการชราภาพแล้วจากกการทำวิจัยในห้องทดลอง หลักฐานแรกมาจากปี 1930 เมื่อนักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่า หนูทดลองที่กินน้อยจะมีอายุยืนยาวกว่าหนูที่กินตามใจชอบ โดยหนูที่อายุยืนยังมีสุขภาพแข็งแรงและเจ็บป่วยน้อย นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบยีนที่ช่วยชะลอการแก่ชรา รวมถึงการใช้ยาและวิธีการรักษาอื่นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการชราภาพ และชะลอความเสื่อมของร่างกายในสัตว์ทดลอง และกำลังทดลองเริ่มวิธีใช้เหล่านี้กับมนุษย์

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า หลายคนอาจกังวลว่าการมีอายุยืนยาว จะหมายถึงการขยายช่วงเวลาที่ต้องทรมานกัยร่างกายและจิตใจอ่อนแอในช่วงท้ายชีวิตออกไป เขากล่าวว่า เมื่อสามารถจัดการกับการแก่ชราได้ จะเพิ่ม "ช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี" ให้ยาวขึ้นโดยเลื่อนเวลาของการเกิดโรคที่มักเกิดขึ้นกับวัยชราออกไป การไม่เจ็บป่วยจึงทำให้โอกาสเสียชีวิตน้อยลง ซึ่งสัตว์ทดลองที่อายุยืนยาวและมนุษย์ที่อายุยืน ไม่เพียงแค่มีอายุขัยยาวนานเท่านั้น ยังมีช่วงเวลาที่มีสุขภาพดีมากกว่าสุขภาพไม่ดีในตลอดชั่วชีวิต

 

เราจะจ่ายเงินเพื่อซื้อชีวิตอมตะได้จริงหรือไม่?

คำตอบ: จริง

ขณะนี้บรรดามหาเศรษฐีและเจ้าของบริษัทเอกชนพยายามหาวิธีเพื่อชะลอความแก่ชรา ในปี 2013 Google ก่อตั้งบริษัทชื่อ Calico ขึ้น เพื่อศึกษาและแทรกแซงกระบวนการชรา ขณะที่ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon ทุ่มเงินมหาศาลใน Altos Labs เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 'ย้อนวัยเซลล์' ซึ่งเริ่มมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง จนดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุน

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า ยังต้องมีการค้นคว้าทางชีววิทยาอีกมาก และต้องการเงินทุนเร่งด่วน เขากล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลทุ่มงบประมาณเพียง 1 ดอลลาร์ต่อคนสำหรับการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการชรา ในขณะที่ใช้เงินกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อหัวสำหรับการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งการวิจัยด้านการชะลอความชราอาจลดงบดูและสุขภาพประชาชนลงได้อย่างมาก

 

เราเข้าใกล้ความเป็นอมตะแล้ว!

ตอบ: ไม่จริง

แม้ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด ความเป็นอมตะก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กระทั่งสัตว์ที่ไม่แก่ชราอย่างเต่ากาลาปาโกส เช่น แฮร์เรียต ที่อายุมากที่สุดในโลก มีอายุถึง 175 ปี ยังเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยความต่างระหว่างแฮร์เรียตกับมนุษย์คือ เธอมีชีวิตอย่างแข็งแรงนานถึง 175 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต

ดร.แอนดรูว์กล่าวว่า ขณะนี้ยา senolytic ที่สามารถกำจัดเซลล์เสื่อมสภาพออกจากร่างกายได้พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วในหนู และกำลังที่จะนำมาใช้ทดลองกับมนุษย์ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะนำมาใช้ได้ภายใน 10 ปีนี้ ขณะที่แนวคิดที่เรื่องการย้อนวัยเซลล์ของ Altos Labs อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี