Skip to main content

“ความเหงา” ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่า เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก รุนแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน

“ความเหงา” (loneliness) เป็นภาวะที่คนรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยกตัวเองจากชุมชนหรือสังคม มีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ เช่น การสูญเสียคนรัก หรือเพื่อน ญาติพี่น้อง การย้ายถิ่นฐาน การเกษียณอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผลกระทบจากความเหงาส่งผลต่อทั้งกับผู้สูงอายุและเยาวชน ในผู้สูงอายุ ความเหงาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมขึ้นถึงร้อยละ 50 รวมถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30

ในกลุ่มเยาวชน มีวัยรุ่นร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 ที่ประสบปัญหาความเหงา โดยมีอัตราที่สูงขึ้นในแอฟริกา (12.7%) เมื่อเทียบกับยุโรป (5.3%)

ยิ่งไปกว่านั้น ความเหงายังส่งผลกระทบต่อเยาวชนในด้านการเรียนและด้านเศรษฐกิจ วัยรุ่นที่เผชิญกับความเหงามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะหยุดเรียนกลางคันและออกจากโรงเรียน หรือเกิดความรู้สึกแปลกแยกกับที่ทำงาน ส่งผลให้ความพึงพอใจในงานและประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยความเหงา โดยมีกำหนดเวลาทำงาน 3 ปี นำโดย ดร.วีเว็ก เมอร์ธี ศัลยแพทย์จากสหรัฐ และชิโด เอ็มเปมบา ทูตเยาวชนจากสหภาพแอฟริกา และคณะรวม 11 คน มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงาที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก