Skip to main content

ประธานสภาวินิจฉัย ร่าง กม.บำนาญแห่งชาติภาคประชาชน หรือ “บำนาญคนแก่” เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้เริ่มรณรงค์รวบรวม 10,000รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา

สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือส่งมายังนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เกี่ยวกับความคืบหน้าของร่างกฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่ริเริ่มโดยภาคประชาชน

เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุถึง ผลการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่ทางเครือข่ายฯ เสนอมายังประธานสภาเป็นไปตามหลักการในหมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเอาไว้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จึงให้ทางเครือข่ายฯ สามารถเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เข้ายื่นรายชื่อผู้ริเริ่ม 20 รายชื่อ เพื่อขอเสนอ ร่าง “พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” (ฉบับที่..) พ.ศ. ... (ของภาคประชาชน) ที่อาคารรัฐสภา โดยต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้แบบรายเดือนที่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป โดยที่ไม่ต้องสงเคราะห์หรือพิสูจน์ความจน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจาก “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญ” ให้กับผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนจากรัฐ โดยมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนในการกำหนดนโยบายการจ่ายบํานาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม

ส่วนแหล่งที่มาของเงิน มาจาก “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่จัดตั้งขึ้น โดยมีที่มาจาก 14 แหล่ง เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทานคลื่นความถี่ ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินบํารุงภาษีรถยนต์ ส่วนแบ่งกฎหมายว่าด้วยการพนัน ส่วนแบ่งรายได้ขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ภาษีเงินได้จากการยกเลิกบีโอไอ หรือสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

สำหรับการเข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่ที่ 10,000 รายชื่อ ผู้ที่ต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายกรอกแบบฟอร์ม เขียนลายมือชื่อพร้อมเซ็นกำกับให้ชัดเจนได้ที่ https://shorturl.asia/KnmXQ โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน