Skip to main content

เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เข้าหารือพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงปัญหาพลังงานที่ส่งทำให้ “ค่าไฟแพง” อย่างก้าวกระโดด พร้อมยื่นข้อเสนอหยุดทำสัญญาซื้อไฟฟ้าแบบผูกมัดระยะยาว แนะนำก๊าซจากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าแทนที่ซื้อก๊าซจากต่างประเทศ และให้สร้างระบบรับฝากถอนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลให้ประชาชน

เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ประกอบไปด้วยองค์กรพันธมิตร สภาองค์กรของผู้บริโภค, SDG Move, Fair Finance Thailand, กรีนพีซ ประเทศไทย, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นต้น นำรายชื่อประชาชน 6,323 รายชื่อ และจากอีก 172 องค์กร ที่ร่วมแคมเปญ #ค่าไฟต้องแฟร์ ยื่นต่อ รมว.พลังงาน พร้อมข้อเสนอทางนโยบาย ให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าเชิงโครงสร้าง มากกว่าแค่ใช้เงินอุดหนุนหรือพยุงราคาเป็นครั้งคราว

 

ปรับโครงสร้างราคาก๊าซ “ค่าไฟ” ลดปีละ 4 - 8 หมื่นล้านบาท

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอนโยบายเร่งด่วนเรื่องการหยุดเซ็นสัญญาแบบ PPA กับโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาที่ผูกมัดนานราว 20-30 ปี เมื่อเซ็นสัญญาจะเกิด “ค่าความพร้อมจ่าย” ทันที ซึ่งจะถูกรวมอยู่ในค่า FT ของค่าไฟฟ้าของประชาชน

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากกว่าค่ามาตรฐาน จนโรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะผลิตไปไฟฟ้าก็ล้น แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นกลับได้รับเงินจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

รศ.ดร.ชาลีกล่าวถึงการที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟลงไปจนถึงสิ้น ต.ค.นี้ว่า แม้จะให้ กฟผ.เป็นผู้รับค่าใช้จ่ายส่วนต่างนี้ แต่แน่นอนว่าผู้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. ย่อมไม่ใช่ใครนอกจากประชาชน 

อีกหนึ่งในข้อเสนอฯ คือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยมากกว่าร้อยละ 50 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่โครงสร้างราคาก๊าซกลับไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนอย่างไม่น่าเชื่อ

“เรามีก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซที่เรามีปริมาณมากและราคาถูกกว่าแหล่งก๊าซอื่น แต่เรานำก๊าซอ่าวไทยไปจัดสรรให้กลุ่มปิโตรเคมีก่อน ส่วนการผลิตไฟฟ้าสำหรับประชาชนเรานำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งอิงราคาพูลก๊าซสากล โดยไม่นำก๊าซอ่าวไทยมารวมในต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทำให้ราคาก๊าซที่เรานำมาผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนของประชาชนสูงเกินจริง” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

รศ.ดร.ชาลีเสนอว่า ควรมีการนำก๊าซในอ่าวไทยมาคิดเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยให้กลุ่มปิโตรเคมีใช้ราคาพูลก๊าซเดียวกันกับที่การไฟฟ้าฯ ต้องใช้ จะทำให้ลดค่าไฟได้ถึงปีละ 40,000 – 80,000 ล้านบาท

 

แบ่งเบาภาระค่าไฟด้วยระบบ Net-Metering 

รศ.ดร.ชาลี ยังเสนอให้มีการจัดทำ Net-Metering ในประเทศไทย หรือ ระบบการคิดไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลบนหลังบ้านเรือนประชาชน

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า ปัญหาของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซล คือ ไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ในช่วงกลางวันต้องปล่อยให้ทิ้งไปฟรีๆ หรืออาจหยุดผลิตไป ดังนั้นถ้ารัฐบาลสร้างระบบ Net Metering จะทำให้ประชาชนสามารถฝากไฟฟ้าไว้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ และนำไฟฟ้าถอนกลับมาใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ก็จะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า Net Metering ไม่เพียงทำให้ประเทศไทยปลดล็อคการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างกว้างขวาง ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง แต่ยังทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมถูกลงอีกด้วย

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า แผนพลังงานชาติ (PDP) ที่กระทรวงพลังงานกำลังทำประชาพิจารณ์ ควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและปรับปรุง อีกทั้งภาคประชาชนได้ทำแผนพลังงานชาติภาคประชาชน หรือ Green PDP ซึ่งเป็นแผนที่นำไปสู่การเป็นประเทศปลอดคาร์บอน เครือข่ายฯ อยากให้แผนของรัฐบาลนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้น

 

รมว.พลังงานรับ รู้ปัญหาก่อนแล้ว ขอให้รอดูผลงาน

ด้านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวหลังรับฟังข้อเสนอจากตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า รู้ถึงปัญหาและเข้าใจทั้งหมดอยู่แล้ว และกำลังดำเนินการหาทางแก้ไขอยู่ แต่ปัญหาคือโครงสร้างพลังงานที่เป็นอยู่ใช้มานานและตกทอดต่อเนื่องมาถึงวันนี้ ประเด็นหลายเรื่องที่ทางเครือข่ายฯ เสนอมาเป็นเรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย

“ถ้าผมอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปีหลายเรื่องที่ท่านพูดท่านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่นอน” รมว.พลังงานกล่าว