ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ศิลปินหญิงผู้ทรงอิทธิพลชาวญี่ปุ่น ที่สร้างชื่อเสียงจากผลงานลวดลายจุด ออกมาขอโทษที่เธอเคยเขียนถ้อยคำอันน่ารังเกียจ และเหยียดเชื้อชาติคนผิวสี ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ ‘Infinity Net’ เมื่อปี 2003 ก่อนเปิดแสดงนิทรรศการล่าสุด ‘Yayoi Kusama: Infinite Love’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโก
“ฉันเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ใช้ภาษาทำร้ายจิตใจ และไม่เหมาะสมในหนังสือของฉัน” คุซามะกล่าวกับซานฟรานซิสโกโครนิเคิล (San Francisco Chronicle) หนังสือพิมพ์เก่าแก่แถบแคลิฟอร์เนียเหนือ โดยคำขอโทษดังกล่าวเผยแพร่ผ่านพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโก (San Francisco Museum of Modern Art: SFMOMA) ซึ่งศิลปินหญิงแถวหน้าของญี่ปุ่นเปิดทำการแสดงนิทรรศการครั้งใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ถ้อยคำของฉันเป็นถ้อยคำแห่งความรัก ความหวัง ความเห็นอกเห็นใจ และความเคารพต่อทุกคนเสมอมา ความตั้งใจที่มีมาตลอดชีวิตของฉันก็คือ การยกระดับมนุษยชาติผ่านงานศิลปะของฉัน และฉันขอโทษสำหรับความเจ็บปวดที่ฉันทำ”
ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ ‘Infinity Net: The Autobiography of Yayoi Kusama’ คุซามะเขียนว่า เมื่อเห็นภาพถ่ายของคนผิวสีเธอรู้สึกพวกเขาเป็นสิ่ง ‘แปลกประหลาด’ พร้อมกับเสริมอีกด้วยว่า เธอเห็นภาพอเมริกาเป็นเหมือนดินแดนที่เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดเหล่านี้ เด็กเท้าเปล่า และป่าดึกดำบรรพ์อันบริสุทธิ์ โดยข้อความดังกล่าวถูกตีพิมพ์อยู่ในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น แต่ไม่ปรากฎบนเนื้อหาฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ
คุซามะยังเคยบ่นอีกด้วยว่า หมู่บ้านกรีนิชในนิวยอร์กที่เธอเคยอาศัยอยู่ก็กลายเป็นสลัม “ต้องขอบคุณคนผิวสีที่ยิงกันต่อหน้า และคนไร้บ้านที่นอนอยู่ที่นั่น”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปิดนิทรรศการคุซามะมักเป็นเต็มไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากศิลปินวัย 94 ปี กลายเป็นที่จับตามองอย่างมากจนสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้ล้นหลาม พิพิธภัณฑ์ขายบัตรหมดเกลี้ยง แฟนๆ ที่แสวงหาการเซลฟีต่อแถวกันยาวเหยียด เพื่อถ่ายรูปพร้อมสัมผัสกับประสบการณ์ใน ‘Infinity Mirror Rooms'
เช่นเดียวกับการจำหน่ายบัตรเข้าชมสองเดือนแรกของนิทรรศการครั้งใหม่ ‘Yayoi Kusama: Infinite Love’ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโกก็ขายหมดลง ทว่านิทรรศการกลับได้รับความสนใจในเชิงลบ เนื่องจากพบการเหยียดเชื้อชาติบนหนังสือของศิลปิน และงานเขียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่อัตชีวประวัติ
เมื่อเดือนมิถุนายน ไฮเปอร์อัลเลอร์จิก (Hyperallergic) สื่อที่นำเสนอมุมมองร่วมสมัยเกี่ยวกับศิลปะ ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการอ้างอิงถึงคนผิวสีในสิ่งพิมพ์ของศิลปินตั้งแต่ปี 1945 จนถึงปัจจุบัน โดยบทละครปี 1971 มีการกล่าวถึงคนผิวสีว่า "ป่าเถื่อน มีขนดก สีดำดุจถ่านหิน" และในปี 1984 นวนิยายของเธอเรื่อง ‘The Hustler's Grotto of Christopher Street’ ก็มีคำอธิบายกลิ่นตัวละครผิวสี และอวัยวะเพศของพวกเขาว่ามีลักษณะอย่างไร
อย่างไรก็ตาม โลกศิลปะเลือกเมินเฉยต่อเรื่องน่าหนักใจจนมาถึงปัจจุบัน อาจเนื่องมาจากความเจ็บป่วยทางจิตที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างชัดเจนของคุซามะ แต่ทุกอย่างอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากก่อนการเปิดนิทรรศการซานฟรานซิสโกโครนิเคิลเผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติของคุซามะนั้นกำลังเป็นเหมือน ‘ช้างในห้องลายจุด’ และวิจารณ์พิพิธภัณฑ์ที่ทำการจัดแสดงผลงาน โดยไม่พูดถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว
นิทรรศการ ‘Yayoi Kusama: Infinite Love’ จะจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโก ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2023 - 7 กันยายน 2024
See less