เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ระเบิด ห่ากระสุนปืนจากอาวุธสงคราม ถูกระดมยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมอยู่กลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่ามกลางเสียงประกาศขอชีวิต ทางเข้าออกมหาวิทยาลัยถูกปิดล้อม เปลี่ยนสถานที่บ่มเพาะทางปัญญาให้กลายเป็นทุ่งสังหาร
ด้านนอกรั้วมหาวิทยาลัย ฝั่งสนามหลวง มีการดักทุบตีทำร้ายร่างกายนักศึกษาที่พยายามหนีตาย มีนักศึกษาถูกจับแขวนคอใต้ต้นมะขาม ร่างนักศึกษาถูกเผาสดในกองยางรถยนต์ ร่างผู้เสียชีวิตถูกทารุณกรรม ศพถูกตอกลิ่มกลางหน้าอก ท่ามกลางกองเชียร์ที่เฝ้ามองดู
ภายในมหาวิทยาลัย มีการไล่ล่านักศึกษาประชาชนที่หลบซ่อนตัวตามอาคารเรียน แกนนำนักศึกษาถูกมัดคอลากไปตามสนามฟุตบอลอย่างโหดร้าย มีผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมในเหตุการณ์วันนั้นจำนวนมาก
ย้อนไป 3 ปีก่อนหน้า ชัยชนะของนักศึกษาประชาชนในการล้มระบอบเผด็จการถนอม กิตติขจรเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ปลุกกระแสความตื่นตัวทางการเมืองและประชาธิปไตยให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
ชัยชนะ 14 ตุลาทำให้นักศึกษามีบทบาทสูงในการเป็นผู้นำทั้งด้านความคิดและทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยจากการมีชีวิตฟุ้งเฟ้อมาเป็นการมุ่งรับใช้ประชาชน กลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้กับกลุ่มชาวนากรรมกร และมุ่งหน้าสู่ชนบทและโรงงาน ในช่วงเวลานั้นมีการประท้วง หยุดงานเกิดขึ้นจำนวนมาก
กระแสประชาธิปไตยที่เพิ่งเบ่งบาน มีอายุเพียง 3 ปี ก่อนจะจบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นับ เป็นการสังหารหมู่เยาวชนของชาติซึ่งเป็นนักศึกษาโดยรัฐ และนับเป็นวันที่มืดมิดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
โศกนาฏกรรม 6 ตุลา เกิดจากการบ่มเพาะและปลุกเร้าความเกลียดชัง โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ด้วยข้อกล่าวหา ฝักใฝ่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ มีการจัดตั้งกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง เช่น กระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน เพื่อต่อต้านขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาและปัญญาชน กระทั่งนำมาสู่การสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม และผลักให้นักศึกษาจำนวนมากเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับรัฐไทย เปิดฉากสงครามกลางเมือง
มีคำกล่าวว่า ถ้าไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านมา 47 ปี สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากความสูญเสียครั้งนั้นบ้าง?