Skip to main content

ประกาศราชกิจจานุเบกษาว่าด้วย การปรับหลักเกณฑ์การจ่าย ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่รัฐบาลเปลี่ยนสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจากแบบถ้วนหน้ามาเป็นสังคมสงเคราะห์

การเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามประกาศในราชกิจจาฯ จากเดิมคือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย และเป็นผู้ไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐ ให้เป็น ‘ผู้ไม่มีรายได้’ หรือ ‘มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ’ โดยกำหนดให้เป็นไปตามคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฏหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นว่า เป็นการเปลี่ยนจากการจ่ายแบบถ้วนหน้า มาเป็นแบบบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน

สส.พรรคก้าวไกล ชี้ว่า เรื่องนี้กระทบต่อสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป 11 ล้านคน ในโพสต์กล่าวว่ามีการทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคน โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลของบัตรคนจน มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตรไม่ใช่คนยากจน โยตั้งคำถามว่า จะนำข้อมูลนี้มาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร

สส.พรรคก้าวไกลระบุด้วยว่า ในมาตรา 11 (11) ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้

ทางด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แสดงการคัดค้านกรณีดังกล่าว ระบุว่า การเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจนหรือคนอนาถา ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล

หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่า พรรคและเครือข่ายบำนาญประชาชนอีก 3.2 ล้านคน จะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชนที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทให้กับคนไทย ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ

ทางด้านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ แต่งบประมาณในส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้

พลเอกอนุพงษ์ ระบุถึงกระแสบนโซเชียลมีเดียที่พูดถึงการต้อง ‘พิสูจน์ความจน’ ว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ผมก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าผมควรได้ไหม ผมมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ มหาดไทย ก็ออกระเบียบให้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดหรือไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะกำหนดเกณฑ์มา แต่ผมคิดว่าต้องตัด คนอย่างผมไม่ควรจะได้”

ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติเดิมของผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ (4) กำหนดว่า “ต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ได้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน...”

ขณะที่ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดหลังจากนี้โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ แต่ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการจัดหางบประมาณ โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ

“วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง งบประมาณจากที่เคยตั้งไว้ 5 หมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็น 8 หมื่นล้าน และแตะ 9 หมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ ให้แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว