ผลสำรวจเผย คนเจน Z ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ที่มีความหมาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่ประสบการณ์ด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารท้องถิ่น เป็นปัจจัยกำหนดจุดหมายปลายทางที่สำคัญอันดับหนึ่ง
ผลการศึกษาล่าสุด ชื่อ “À La Carte Luxury: Gen Z’s Selective Indulgence Approach to Travel” โดย BurdaLuxury สื่อในเครือ Hubert Burda Media ของเยอรมนี ร่วมกับ Vero บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ทำการศึกษาพฤติกรรมของคนเจน Z ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีกำลังใช้จ่ายสูงสุดของภูมิภาคในอนาคต พบว่า คนเจน Z เปลี่ยนมุมมองการท่องเที่ยวจากแบบแพ็กเกจหรู สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน (All-inclusive) มาเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เฉพาะที่มีความหมายและเติมเต็มจิตใจ (Personalized experience)
การศึกษาพบว่า “ประสบการณ์ด้านอาหาร” เป็นปัจจัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการกำหนดวิธีและจุดหมายปลายทางการเดินทาง โดยประสบการณ์ด้านอาหารที่นักเดินทางเจน Z ชื่นชอบมากที่สุด คือ การเดินตลาดอาหารท้องถิ่น รองลงมา คือ การได้ลิ้มรสอาหารในร้านของเชฟท้องถิ่นชื่อดังของท้องถิ่น
ขณะที่ประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อ “ความบันเทิง” เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่คนเจน Z เลือกที่จะจ่าย โดยผู้ตอบแบบสอบถามเจน Z ร้อยละ 61 ต้องการใช้เงินไปกับเทศกาลทางวัฒนธรรม ในขณะที่ราวร้อยละ 40 เห็นว่า การใช้จ่ายเงินไปกับคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และการไปเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หรือรายการทีวี เป็นสิ่งที่คุ้มค่า
การศึกษาดังกล่าว สำรวจถึงลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของคนเจน Z ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากกลุ่มตัวอย่างคนเจน Z ราว 2,500 คน ในฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ส่วนเทรนด์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะที่ดี (Wellness) หรือการดูแลสุขภาวะองค์รวม มาเป็นอันดับสองที่คนเจน Z เลือกที่จะใช้จ่ายในการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น และมองว่าการเดินทางไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อการพักผ่อน แต่ยังเป็นโอกาสที่ดีในการดูแลสุขภาวะทางอารมณ์และจิตใจ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ หรือ Wellness สำหรับคนเจน Z จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การไปสปาหรือโยคะ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการได้สัมผัสและใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยนักท่องเที่ยวเจน Z ร้อยละ 59 พร้อมจ่ายเงินให้กับกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติอย่างการอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเดินป่าแบบมีไกด์นำทาง
นอกจากนี้ ความยั่งยืน (Sustainability) ยังเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวเจน Z ให้สำคัญ การสำรวจพบว่า คนเจน Z ราว 7 ใน 10 คนใส่ใจกับการเลือกที่พักและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และต้องการเห็นความมุ่งมั่นหรือแนวทางด้านความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยคนเจน Z ยินดีจ่ายเงินเพิ่มให้กับที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร้านอาหารที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบอาคารที่พักและการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
การได้สัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและทิวทัศน์ที่ตราตรึงใจ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนเจน Z ยินดีจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 75และ 71ให้ความสำคัญกับทัศนียภาพจุดหมายปลายทางที่ทิวทัศน์สวยงามมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะสามารถนำมาทำเป็นคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ โดยร้อยละ 77 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เลือกออกเดินทางท่องเที่ยวเพราะสถานที่นั้นกำลังเป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดีย
อุมาพร วิทเทเกอร์-ทอมป์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้า Vero กล่าวว่า เนื่องจากคนเจน Z ให้คุณค่ากับเรื่องราวที่มีความหมาย และหากประสบการณ์ใดสามารถเข้าถึงพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง คนเจน Z จะกลายเป็นผู้สนับสนุนที่ทรงพลังที่สุด เพราะพวกเขาไม่ได้มองหาแค่ผลตอบแทนจากเงินที่จ่าย หรือ ROI เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังตามหา “ประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยว” หรือ ROX (Return on Experience) ในระหว่างการเดินทาง
“แบรนด์ต่างๆ ควรใช้โอกาสนี้ในการมอบประสบการณ์ที่มีความหมายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะให้แก่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ โดยต้องให้ความสำคัญกับความจริงใจและเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ที่ถูกจัดฉากให้ดูดี แต่ต้องเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ว่ามีอยู่จริง” คริสทอฟ พาเกล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ BurdaLuxury กล่าว
เมื่อคนเจน Z ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีความหมาย ธุรกิจที่อยู่ในภาคบริการและการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร หรือแม้แต่ธุรกิจไลฟ์สไตล์และการเงิน จะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ให้บริการ” มาเป็น “เพื่อนเดินทาง” ให้ได้มากยิ่งขึ้น แบรนด์ต่างๆ ต้องพร้อมมอบบริการด้านการเดินทางแบบ Luxury โฉมใหม่ที่ทำให้ทุกโมเมนต์ในการเดินทางมีความหมาย สร้างความประทับใจ และสร้างประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม โดยไม่ลดทอนตัวตนและคุณค่าของการเดินทาง