Skip to main content

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงจุดยืนสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาในเด็ก ว่า กรมการแพทย์สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์มาตลอด ไม่สนับสนุนการใช้สันทนาการและในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั้งนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการและยืนยันเช่นนี้มาตลอด มอบให้กรมการแพทย์ทบทวนเอกสารหลักฐานต่างๆ ศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ 

ทั้งนี้การใช้ทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน มี 2 + 1 ตัว ที่บรรจุในบัญชีหลักแห่งชาติ คือ 1.ยา THC ต่อ CBD สัดส่วน 1:1 รักษาผู้ป่วยระยะประคับประคอง 2.ยารักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการให้เคมีบำบัด และ 3. ยา CBD เด่น ใช้รักษาโรคลมชักในเด็ก มีระบบติดตามเฝ้าระวัง ส่วนกรณีอื่นที่จะเกี่ยวกับการแพทย์ เช่น สถาบันโรคผิวหนังก็มีการเอาไปใช้เป็นเวชสำอาง

"ยืนยันว่าเราไม่อยากให้ใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์ศึกษาและแนะนำขอให้ใช้ในกลุ่มที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ เพื่อความปลอดภัย เพราะกัญชามีผลต่อพัฒนาการสมอง การเรียนรู้ และระบบประสาท ต้องขอความร่วมมือ โรงเรียน ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ทุกภาคส่วนช่วยกันเฝ้าระวัง หากจะใช้ในเด็ก ต้องใช้กรณีเด็กที่มีโรคลมชักไม่สามารถรักษาด้วยยาต่างๆ หรือดื้อยาแล้ว และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง คือ กุมารแพทย์และประสาทวิทยาและขอให้งดใช้ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช และหญิงตั้งครรภ์" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีระบบติดตามเฝ้าระวังการใช้กัญชาภาพรวมทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลศึกษาต่อไป ทั้งนี้ การใช้กัญชามีทั้งผลดีผลเสีย อย่างผลดีเราทราบดี แต่ผลเสียมีการเสพติดและไปขับขี่รถจนเกิดอุบัติเหตุจราจร ซึ่งมีรายงานในต่างประเทศแล้ว นอกจากนี้ ขอเตือนว่ากัญชาในตลาดมืดน่ากลัว เพราะผลิตไม่ได้มาตรฐาน ขณะนี้เตรียมบุคลากรและสถานพยาบาลรองรับภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะการประชุมประจำเดือนกรมการแพทย์วันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะมีการหารือติดตามผลดี ผลเสีย บางคนผลข้างเคียงชัดเจน ที่พบคือคอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ตอนนี้สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จัดทำ LINE Official "ห่วงใย" เพื่อให้ประเมินตัวเองได้ว่า ติดหรือไม่ติดกัญชา มีสายด่วน 1665 ให้โทรปรึกษา และกรมการแพทย์ออกคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชาด้วย

“แพทย์แผนปัจจุบันไม่สนับสนุน อย่างหากปวดหัว กินพาราเซตามอลได้ ไม่สนับสนุนปวดหัวนอนไม่หลับให้ใช้กัญชาเลย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สบยช.เฝ้าระวังตัวเลขผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ภาพรวมทั้งหมดว่า หลังจากปลดล็อกกัญชาจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งยอมรับว่าเมื่อปลดล็อกย่อมมีทั้งบวกและลบ เพราะคนใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมก็มี จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมการทุกภาคส่วน ขอยืนยันมุ่งเน้นความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นสำคัญ อย่าไปลองสูบ ไปใช้ในทางสันทนาการ กรมการแพทย์ไม่เห็นด้วย 100%” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะดูแล 2 ส่วนในการเฝ้าระวัง คือ ส่วนแรกระยะเฉียบพลัน เฝ้าระวังห้องฉุกเฉิน อย่างช่วงแรกจะพบผู้ใช้ไม่ถูกวิธีก็จะมาที่ห้องฉุกเฉิน เป็นอาการทางระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก และส่วนที่สอง โดย สบยช. มีการเฝ้าระวังการใช้ในไปในทางเสพติด ซึ่งได้ทำไลน์ “ห่วงใย” ขึ้นมา เพื่อประเมินอาการว่าติดหรือไม่ติดได้ ทั้งนี้ กลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์จะมีความเข้าใจอยู่แล้ว แต่จากการใช้ไม่ถูกวิธี อย่างการสูบทำให้ปริมาณ THC สูงขึ้นได้เร็ว มีอาการวิงเวียงศีรษะได้เร็ว สิ่งสำคัญต้องใช้ตามหลักการทางการแพทย์ ดังนั้น กลุ่มสันทนาการน่าเป็นห่วง ขอให้อย่าใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อย่างการสูบ จะมีอาการทางระบบประสาท และระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดัน วิงเวียนศีรษะ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเสียชีวิตจากพิษโดยตรง ยกเว้นไปขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

เมื่อถามว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากการรวบรวมของ รพ.ในสังกัด สธ.หรือไม่ และสอดคล้องกับพื้นที่ใดที่ใช้กัญชาสูง นพ.มานัส กล่าวว่า ข้อมูลนี้มาจากรพ.ใน สังกัดสธ. ส่วนข้อมูลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากกัญชาในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ขณะที่ภาคใต้จะเป็นกระท่อม

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่ากรณีมีข้อห่วงใยเรื่องการใช้กัญชาขับรถเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทางกรมการแพทย์ได้มีการหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค ในการติดตามข้อมูลนี้เพื่อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้สำหรับการควบคุมการใช้กัญชาขณะขับขี่ โดยในอนาคตอาจจะมีการบรรจุเป็นข้อกำหนดในการประเมินสมรรถนะ ของผู้ขับขี่เหมือนกรณีการเป็นโรคลมชักห้ามขับรถ ทั้งนี้ ย้ำว่า เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาขอให้งดขับรถ งดใช้เครื่องจักรภายใน 6 ชั่วโมง

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าอนาคตจะระบุว่า การใช้กัญชาห้ามขับรถ เหมือนกรณีป่วยโรคลมชักจะไม่สามารถได้ใบรับรองแพทย์เพื่อต่อใบอนุญาตขับขี่ได้ นพ.มานัส กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะกรมการแพทย์ได้หารือกับกรมควบคุมโรค หารือเรื่องการวิจัย งานวิชาการเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมินสมรรถนะเรื่องการขับขี่