มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ขายได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นช่อดอก ใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ในทางปฏิบัติน่าจะยังมีอันตราย โดยเฉพาะช่อดอกที่หากมีการนำไปใช้ในการบริโภคหรืออุปโภคโดยไม่มีมาตรการรองรับอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตได้
“หลังจากมีการปลดล็อกกัญชงและกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ประเภทที่ 5 จะทำให้มีการนำช่อดอก ใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเพื่อจำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะช่อดอกที่หากนำไปใช้นั้นอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความปลอดภัยให้กับประชาชน” มลฤดี กล่าว
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวอีกว่า จากการประกาศของกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ได้กำหนดร้อยละของ สารทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) โดยน้ำหนักต่อเมนูเสิร์ฟ และกำหนดปริมาณการใช้ใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู โดยกำหนดในกลุ่มอาหาร ดังนี้ กลุ่มทอด ไม่เกิน 0.11 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 - 2 ใบสด (ไข่เจียว ½ - 1 ใบสด) , ผัด ไม่เกิน 0.006 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด, แกง ไม่เกิน 0.02 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด, ต้ม ไม่เกิน 0.02 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด และ การผสมในเครื่องดื่ม ไม่เกิน 0.003 ปริมาณใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู 1 ใบสด ทั้งนี้ จากการกำหนดปริมาณดังกล่าว จึงเกิดคำถามว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการอาหารและจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่าอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นมีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 หรือไม่ รวมถึงผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบหรือทราบได้อย่างไรว่าร้านอาหารจะใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่ประกาศกรมอนามัยฯ กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่มีข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีก ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับก่อนนั้น ทั้งการไม่มีมาตรการควบคุมการขายอาหารทางออนไลน์ การขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการบริโภคร่วมกับภาคีต่าง ๆ และภาคประชาสังคม หรือการไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา หรือแม้กระทั่งการไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชา เช่น การกำหนดให้ห้ามจำหน่ายในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 18 ปี การกำหนดปริมาณที่ซื้อหรือครอบครอง เป็นต้น