สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมด้วย 'เครือข่ายปลุกกรุงเทพ' ซึ่งประกอบด้วยภาคีทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม กว่า 80 เครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ ฟังเสียงกรุงเทพ 'เมืองสุขภาพ' เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา และทิศทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพเขตเมือง พร้อมยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายและคำถามสำคัญเสนอต่อว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ กทม.
เวทีดังกล่าว เป็นการชวนภาคีเครือข่ายคิดต่อยอดเพื่อหาทางออกของปัญหา ที่จะนำไปสู่แนวทางการทำงานและขับเคลื่อนระบบสุขภาพ กทม. ผ่านการสังเคราะห์ตามกลุ่มเชิงประเด็น ได้แก่ 1. กฎหมาย ระเบียบ นโยบายและยุทธศาสตร์ ด้านสุขภาพ 2. ระบบบริการด้านสุขภาพ 3. เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน 4. สภาพแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วยกิจกรรมเวทีสาธารณะ “เมืองสุขภาพ” ที่จะส่งเสียงสะท้อน ข้อเสนอเชิงนโยบาย รูปแบบการทำงานที่จำเป็น เพื่อเสนอต่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป
นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เห็นผู้สมัครหาเสียงและมีนโยบายด้านสาธารณสุขที่มากและชัดเจน ถึงขนาดที่มีการเสนอยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็นโรงพยาบาลประจำเขต ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายที่ถูกเสนอขึ้นเป็นครั้งแรก แตกต่างกับการหาเสียงครั้งก่อนหน้าเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่ไม่มีผู้สมัครรายใดสนใจในประเด็นดังกล่าว ฉะนั้นครั้งนี้จึงถือเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่ผลักดันเรื่องนี้ไปได้
“ที่ผ่านมาไม่มีนักการเมืองคนไหนสนใจเรื่องนี้ เพราะมันใช้เวลานาน ถ้าทำจริงในช่วง 4 ปีก็ยังทำไม่จบ ไม่เห็นภาพความสำเร็จที่นำไปหาเสียงได้ และถ้าผู้สมัครคนไหนบอกว่าทำไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณ ก็แปลว่าเขาไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้ศึกษาว่าเงินในระบบสุขภาพมาจากจำนวนหัวของประชากร ถ้ามีโรงพยาบาลเกิดขึ้นจริง งบประมาณก็จะตามลงไปในพื้นที่นั้น ไม่เหมือนศูนย์บริการสาธารณสุขทุกวันนี้ ที่ค่าหัวกระจัดกระจาย ได้เพียงไม่เท่าไร” นิมิตร์ กล่าว
นิมิตร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ และการยกระดับอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อขยับเป็นโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องของการรักษาอย่างเดียว แต่ยังจะต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปด้วย พร้อมกับการถักทอเครือข่ายระบบสุขภาพใน กทม. ทั้งระบบเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการเติมเต็มช่องว่างระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิ กับโรงพยาบาลตติยภูมิขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ยังมีช่องว่างในส่วนนี้ จึงต้องทำให้เกิดรูปธรรมของหน่วยบริการระดับกลางเพิ่มขึ้นด้วย
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร อดีตเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กล่าวว่า ลำพังทรัพยากรของ กทม. เองคงไม่เพียงพอในการจัดระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นสุดท้ายแล้วความสำคัญจึงอาจอยู่ที่การประสานงาน ที่ผู้ว่าราชการ กทม. จะต้องสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่วนอื่นๆ รวมทั้งภาควิชาชีพ เข้ามาร่วมกันเป็นทีมที่ให้บริการสุขภาพได้มีประสิทธิภาพ
“แนวโน้มวิธีคิดของผู้ว่า กทม. มักจะคิดว่าทุกอย่าง กทม. ต้องทำเอง นโยบายจึงออกมาเป็นชิ้นส่วนแยกกัน และไม่ได้คิดที่จะเสริมศักยภาพให้ประชาชนดูแลตนเองเป็น ดังนั้นจึงคิดว่าอีกสิ่งที่สำคัญจากนี้ คือ กทม. ต้องสร้างความร่วมมือในการทำงานกับคนอื่น ทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านภายใต้การเปิดรับคนอื่นให้เข้ามาทำงานร่วมกัน รวมทั้งเสริมพลังให้กับภาคประชาชนในการดูแลตนเอง” พญ.สุพัตรา กล่าว
วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กล่าวว่า สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพที่ภาครัฐมักบอกว่ามีไม่เพียงพอ ในเมื่อ กทม. บริหารเอง จัดเก็บภาษีโดยไม่ได้เข้าคลัง เหตุใดจึงไม่จัดการให้มีบุคลากรอย่างเพียงพอ ทั้งที่มีแหล่งผลิตชั้นนำอยู่มากมาย เหตุใดจึงไม่ส่งเสริมให้คนเข้าไปเรียน ตัวอย่างเช่นลูกหลานของ อสส. ที่เสียสละทำงานอาสา หลายคนเรียนดีมีเกรดสูง กทม.จึงน่าจะสนับสนุนและลงทุนให้ลูกหลานของเขาได้เข้าเรียน พอจบแล้วก็ออกมาใช้ทุน เช่นเดียวกับในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนมากก็มักเป็นลูกหลานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
วิศัลย์สิริ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็พบว่า กทม. มักไม่ค่อยให้ความไว้วางใจ หรือใช้ประโยชน์ของ อสส. ในการทำหน้าที่มากเท่าที่ควร ฉะนั้นผู้ว่าราชการคนใหม่ก็ควรจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในด้านของการส่งเสริมป้องกันโรค ให้ภาคประชาชน สังคม ชุมชน ตลอดจนเอกชนต่างๆ มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุขภาพดีให้กับคน กทม. รวมทั้งสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็น อสส. เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. กล่าวว่า ความจริงแล้ว กทม. ถือได้ว่ามีต้นทุนในพื้นที่อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงพยาบาล คลินิกเอกชน ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ใช้ต้นทุนที่มีอยู่มาตอบสนองต่อความจำเป็นได้อย่างเหมาะสม เหมือนกับมีนักดนตรีอยู่มากมายที่พร้อมจะเล่นดนตรี และต่างคนต่างเล่นอยู่ แต่ยังขาดวาทยกรที่จะเป็นตัวนำการเล่นทั้งหมดเพื่อประสานเสียงออกมาเป็นออร์เคสตราวงใหญ่ได้
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของกระบวนการครั้งนี้คือการปลุกกรุงเทพ ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงของการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น แต่อยากให้ถูกใช้เป็นโอกาสในการสร้างพลังของกระบวนการมีส่วนร่วม และติดตามสิ่งต่างๆ ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างนโยบาย กทม.ที่เป็นของทุกคน เริ่มตั้งแต่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผลประโยชน์ เพราะเรื่องของสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือหมอ แต่ยังอยู่ที่พวกเราทุกคน
“พลังของภาคประชาชนตรงนี้จะมีความสำคัญ นอกจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแล้ว เรายังมีเครื่องมืออีกมาก ทั้งสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งในช่วงโควิด-19 เราก็เห็นความเข้มแข็งที่เกิดขึ้น อย่างการใช้หลักของธรรมนูญไปเป็นข้อตกลงของชุมชนเพื่อช่วยกันจัดการโรคระบาด ซึ่งเป็นพลังที่เราอยากเห็นต่อไป เพราะสิ่งโควิดสอนคือ เราคงไม่ได้ต้องการโรงพยาบาลระดับสูงเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือระบบของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่จะต้องถูกยกระดับขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกส่วน” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว