สช. รับฟังความเห็นกว่า 10 เวที ครอบคลุมหลายภาคส่วน เพื่อยกร่าง 'ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ฉบับที่ 3' หวังสร้างความเป็นธรรมระบบสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปักธงภายใน 5 ปี การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต้องครอบคลุม
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น ภายใต้คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ฉบับที่ 3 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการยกร่าง 'ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ฉบับที่ 3' รวมกว่า 10 เวที ตลอดช่วงเดือนกันยายน 2564 ครอบคลุมทั้งกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ ตลอดจนกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิ ด้านสุขภาพ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มผู้ทำงานในชุมชน รวมไปถึงหน่วยงานนอกภาคสุขภาพ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีซึ่งมาจากหลากหลายองค์กร ได้ร่วมกันเสนอแนะต่อประเด็นต่างๆ ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ฉบับที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นการให้ลักษณะของระบบสุขภาพไทยที่เป็นธรรม ตอบสนอง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ข้อท้าทายหรือข้อจำกัดในปัจจุบัน การทำให้มีการอภิบาลระบบสุขภาพที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วม ประเด็นการเงินการคลัง การทำให้ระบบสุขภาพไทยสามารถปรับตัวหรือฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสภาวะวิกฤตต่างๆ หรือการมีบทบาทที่จะทำให้ HEALTH IN ALL POLICIES เกิดขึ้นได้จริง เป็นต้น
สุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า การรับฟังความเห็นจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ในทุกระดับนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่นำไปสู่การยกร่างธรรมนูญฯ ซึ่งอยู่บนฐานสำคัญที่จะต้องมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้รับการยอมรับของทุกภาคส่วน จนสามารถนำไปเป็นกรอบการทำงานและกรอบของธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ได้
"เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นบทบาทของทุกคน โดยเฉพาะคนในชุมชนที่มีความสำคัญยิ่งในการร่วมกำหนดทิศทางระบบสุขภาพ จึงหวังว่าการรับฟังความเห็นทุกเวทีจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปพัฒนาการจัดทำร่างธรรมนูญฯ ได้อย่างแท้จริง" สุทธินันท์ กล่าว
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในฐานะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของ อปท. ในการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ คือการกระจายอำนาจของหน่วยงาน อปท. ทุกระดับ ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ เพราะท้องถิ่นถือเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และรับรู้ปัญหาของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
"ท้องถิ่นและชุมชนมีศักยภาพ มีความตื่นตัว มีภูมิปัญญาและความรู้ต่างๆ ที่จะหนุนเสริมการทำงานของส่วนกลางได้ อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการดูแลกันเองในชุมชน มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแพทย์แผนไทย ซึ่งหากมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ก็จะทำให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากขึ้น" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าว
ด้าน สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3 นี้ มีแนวคิดและเป้าหมายสำคัญคือ อีก 5 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2570 ต้องเกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุม และระยะต่อไปต้องเกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน จนถึงเป้าหมายสุดท้ายคือการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยสามารถจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน
สุทธิพงษ์ กล่าวว่า กลไกและแนวทางที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านี้เกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดการพัฒนา และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประเด็นที่ท้าทายและสอดคล้องกับบริบทสังคม เช่น โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ สังคมสูงวัย ภาวะโลกร้อน เทคโนโลยี การขยายตัวเองของเมือง เป็นต้น
"เวทีรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการยกร่างธรรมนูญฯ มีกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งสุดท้ายเมื่อจัดทำแล้วเสร็จ ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งเราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเป็นกรอบนโยบายด้านสุขภาพของท้องถิ่นและประเทศชาติ" สุทธิพงษ์ กล่าว