วันที่ 7 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า จากกรณีผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นขอให้ตรวจสอบกรณีนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 และ ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ก.ค. 2564 เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน กสม. เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 มีลักษณะจำกัดเสรีภาพการแสดงออก การเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชน และมีข้อความบทบัญญัติกว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน บริษัท รีพอตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด กับพวกรวม 12 คน ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว โดยศาลแพ่งมีความเห็นว่า “ข้อกำหนดที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนด ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชน ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา 35 วรรคหนึ่ง คุ้มครองไว้”
และศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ห้ามนายกรัฐมนตรี ดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้น นายกฯ จึงออกข้อกำหนดฯ ยกเลิกข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 กสม. จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบในประเด็นของข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 นี้ อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 ย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพเสนอข่าวสารของผู้ร้องทั้ง6 และประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้เช่นเดียวกัน
วสันต์ กล่าวว่า แม้ผู้ถูกร้องโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จะไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐานตามที่กสม. ได้ร้องขอ แต่พยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นตรวจสอบเพียงพอที่ กสม. จะพิจารณาและมีความเห็น และแม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้บังคับข้อกำหนดฯ แต่จากเหตุผลย่อมเห็นได้ว่าข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 กระทบต่อเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนเกินสมควรแก่เหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
วสันต์ กล่าวว่า กสม. เห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณายกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 เฉพาะส่วนในข้อ 11 และในระหว่างที่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ยังมีผลใช้บังคับ ให้ ศบค. ใช้วิธีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด พิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550