Skip to main content

ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.18/2564 คดีของ ดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ถูกลอบสังหารโดยที่ดำสามารถหลบกระสุนปืนแบบฉิวเฉียดเอาชีวิตรอดมาได้ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยคดีนี้ ดำได้ตั้งทีมทนายความเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดเวียงสระ 

คดีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เวลา 01.00 น. ขณะที่ ดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาอีกจำนวน 4  คน กำลังทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนบริเวณทางเข้าชุมชน คนร้ายได้บุกเข้ามาและนำปืนจ่อยิงเข้าไปที่ศีรษะของดำ แต่ดำสามารถหลบคมกระสุนทัน ทำให้รอดชีวิตจากการลอบสังหารที่อุกอาจและซึ่งหน้ามาได้อย่างหวุดหวิด ซึ่งคนร้ายที่ก่อเหตุทราบชื่อต่อมา คือ สมพร ฉิมเรือง ทราบว่าเคยเป็นคนงานของบริษัทปาล์มน้ำมันเอกชนที่มีข้อพิพาทกับชุมชน 

หลังจากก่อเหตุได้ขับรถยนต์หลบหนีไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามที่บ้านของสมพร คนร้ายและดำเนินการจับกุมพร้อมกับอาวุธปืนที่เกิดเหตุ และได้ดำเนินการตามกฎหมาย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

ศาลจังหวัดเวียงสระ มีคำพิพากษาจำคุก สมพร ฉิมเรือง (จำเลย) เป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ดำอีก 30,000 บาท เนื่องจาก ดำได้เรียกค่าเสียหายไปเป็นจำนวน 60,000 บาท และ สมพร(จำเลย) ชดใช้ไปแล้วจำนวน 30,000 บาท (เป็นการสรุปคำพิพากษาเบื้องต้น)

ดำ กล่าวว่า รู้สึกพอใจในคำพิพากษา รู้สึกว่าตนเองได้รับความยุติธรรมแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ของสกต.ที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนๆ ได้ถูกสังหารไปแล้ว 4 คน และยังถูกลอบยิงอีกสองคนรวมตนเอง และเรื่องของตนเองเป็นครั้งแรกที่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้จริง ถือว่าเป็นผลดีกับ สกต. ที่ได้รับความยุติธรรมในครั้งนี้

ด้าน อัมพร สังข์ทอง ทนายความของนายดำกล่าวหลังจากได้รับทราบผลของคำพิพากษาแล้วว่า คดีนี้ประสบความสำเร็จ รู้สึกพอใจกับความพิพากษาในวันนี้ เพราะเห็นว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามกฎหมายและคดีนี้เป็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นคดีแรกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่กระบวนการยุติธรรมสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ 

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดกรณีสังหาร ดำ อ่อนเมือง สมาชิก สกต. ถือเป็นชัยชนะระดับหนึ่งของชาวบ้าน อย่างไรก็ดีการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดต่อผู้จ้างวานฆ่าถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม และทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลและหวังว่ากรณีนี้จะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และยุติการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทยต่อไป

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ระบุว่า ในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นจากการแสวงหาและใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องจากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการทุจริตในโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมและขบวนการต่อสู้ของพวกเขา หน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมือง ตลอดจนความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจและตุลาการ