ศาลฎีกา ยืนลดเงินนักปกป้องสิทธิสกลนครรุกสำรวจพื้นที่ค้านเหมืองแร่โปแตซ จ่าย บ.เอกชนคู่กรณีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย จาก 1.5 ล้าน เหลือ 4 หมื่นบาท
ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน สกลนคร อ่านคำสั่งของศาลฎีกา ยืนตามศาลอุทธรณ์ลดเงินที่นักปกป้องสิทธิฯ จากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครจะต้องจ่ายให้กับบริษัทเอกชนกรณีที่ถูกฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหายจำนวน1,500,000 บาท เหลือ 40,000 บาท จากกรณีที่ชาวบ้านร่วมกันชุมนุมเพื่อคัดค้านการเข้าสำรวจการทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทเอกชน
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 30 คน ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าร่วมรับฟังคำสั่งของศาลฎีกา กรณีที่กลุ่มฯได้ยื่นคำร้องขอฎีกาในคดีที่สมาชิกจำนวน 9 คน ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง กรณีที่ร่วมกันชุมนุมเพื่อคัดค้านการเข้าสำรวจการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทเอกชน และศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัทเอกชนเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ชาวบ้านจึงตัดสินใจยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาจนมาสู่การนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา
ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากพื้นที่ของแอ่งสกลนครเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการทำเหมืองแร่โปแตช ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจแร่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็มีการรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ต้องได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจแร่ และโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นเหมืองแร่ใต้ดินขนาดใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคต
จากการติดตามสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจแร่ ของบริษัทพิพาท ชาวบ้านพบพิรุธหลายอย่าง จนนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านไม่ให้มีการขุดเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่อีก โดยในวันที่ 7- 14 พฤษภาคม 2561 กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและประชาชนวานรนิวาส ได้ทำการชุมนุมคัดค้านบริษัทเอกชนที่จะทำการเจาะหลุมสำรวจแร่โปแตส หลุมที่ 4 บริเวณบ้านน้อยหลักเมือง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จนนำมาสู่การถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน และถูกฟ้องคดีแพ่ง จากบริษัทขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช ที่เป็นบริษัทพิพาท
ในการชุมนุมดังกล่าว ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหาตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมจำนวน 9 คน ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด พนง.สอบสวน สภ.วานรนิวาส จึงยุติการดำเนินคดี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือของผู้อื่น จนถึงผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่อัยการมีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิด
ในขณะที่ฝั่งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าฟ้องคดีแพ่งต่อชาวบ้าน ในฐานความผิดละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 3,600,000 บาท และการฟ้องปิดปากในลักษณะก็ยังคงใช้ได้เสมอ ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านบางส่วนเกิดความหวาดกลัว บางส่วนก็ยังคงสู้ไม่ถอย เพราะนี่คือการปกป้องแผ่นดินเกิดไว้ให้ลูกหลาน
วันที่ 31 ก.ค. 62 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 9 คน มีความผิดโดยศาลคิดค่าเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ชาวบ้านจึงตัดสินใจยื่นอุทธรณ์เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และค่าเสียหายที่ทางบริษัทพิพาทเรียกมานั้นก็เกินไปจากความเป็นจริง
วันที่ 9 ก.พ. 64 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 9 ได้กระทำการละเมิดโจทก์จริง แต่เรื่องค่าเสียหายศาลพิจารณาแล้วให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้อง ชาวบ้านตัดสินใจยื่นคำร้องขอยื่นฎีกา
และวันที่ 1 มี.ค. 2565 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสประมาณ 30 คน เดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจจำเลยทั้ง 9 คน และร่วมรับฟังคำสั่งศาลฎีกา ที่ ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำขอฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลย โดยให้ความเห็นว่า “ ฎีกาของจำเลยทั้งเก้าไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย เพราะพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ”
สุดตา คำน้อย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหนึ่งในตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องดำเนินคดีกล่าวภายหลังจากรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาเสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้ก็มีอารมณ์ทั้งดีใจและหลายอารมณ์มากและพวกเราเองก็เคารพในคำสั่งของศาล การต่อสู้ของพวกเรายาวนานมาตั้งแต่ปี 61 จนถึงปี 65 แลกมาด้วยการโดนฟ้อง แต่ก็คุ้มค่าที่เราสามารถรักษาทรัพยากรของเราไว้ได้ เพราะถ้าเกิดเหมืองขึ้นได้เหมือนที่อื่นในพื้นที่ของบ้านเรา อาจจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของเรามากกว่านี้ เรามองว่าการต่อสู้ของเรา 4-5 ปี แล้วต้องเสีย 4 หมื่นก็เพียงพอแล้ว