Skip to main content

“ตอนแรกพวกเขาคลั่งไคล้เธอ แต่ต่อมาพวกเขาก็ทึ้งเธอลงมา จะอย่างไรก็เถอะ กรณีของซงจีอานั้น ช่วยฉายภาพวัตถุนิยมสุดกู่ของเกาหลีใต้ได้สมบูรณ์แบบมาก” 

บทความ Song Ji-ah: The Perfect Korean Celebrity หรือ “ซง จีอา: เซเลปเกาหลีผู้สมบูรณ์แบบ” เขียนโดย คู เซอุง   บรรณาธิการบริหารของ Korea Expose และเป็นนักวิชาการด้านเกาหลีศึกษา เปิดประเด็นไว้อย่างเผ็ดร้อน 

รุ่งแล้วร่วงในชั่วพริบตา เพราะ “ไม่รวยจริง”

กรณีที่ซงจีอาถูก “แคนเซิล” จากเน็ตติเซ่นเกาหลี เริ่มจากเรื่องการสวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบรนด์เนมปลอม จนขุดไปยันประวัติพ่อแม่ครอบครัว เรื่อยไปถึงการแฉด้วยว่าที่อยู่อาศัยที่ดูหรูหราไฮโซนั้น ไม่ใช่ของพ่อแม่ แถมเป็นการ “เช่ารายเดือน” ไม่ใช่ "เช่าระยะยาว" ซึ่งการเช่าระยะสั้นนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ กระจอก - ดาดๆ พื้นๆ ไม่สมกับภาพลักษณ์ลูกคุณหนูไฮโซ

การลบภาพและคลิปออกจากโซเชียลมีเดียที่เคยเป็นแพลตฟอร์มสร้างรายได้ของเธอชนิดที่ไม่เหลือคอนเทนต์อะไรเลย นอกจากข้อความขอโทษทั้งอินสตาแกรมและยูทูป ด้วยสีหน้าที่ไม่เพียงดูอิดโรย แต่ดู “พังทลาย” นั้น ทำให้เกิด #ซงจีอา ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในเมืองไทยทันที แน่นอน เน็ตติเซ่นไทยถ้าเทียบกับที่อื่นในโลกก็ยังนับว่ามีเมตตาธรรมสูงกว่า (ฮา-นี่พูดจริงๆ ไม่ได้ประชด) และเริ่มตั้งคำถามกลับไปที่ความเจ้าคิดเจ้าแค้นแบบฝังทั้งเป็นในโลกโซเลียลของเกาหลี ว่ามันกี่ครั้งกี่หนกันแล้ว ที่ฆ่าคนทั้งเป็นในแง่ที่ดับอนาคตกันยาวๆ  รวมไปถึงเป็นเหตุให้ไอดอล หรือคนในวงการบันเทิงฆ่าตัวตาย เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

ในมุมมองของ คู เซอุง เขามองว่าประเด็นการใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือของปลอมนั้น ไม่ได้ทำให้เน็ตติเซ่นหัวร้อนเท่า “รวยปลอม” และ “โปรไฟล์ปลอม” แถมยังมีเอเจนซีช่วยสร้างบท-สร้างภาพลักษณ์ตลอดมาอีกต่างหาก ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังมีแอคเคาท์ในสื่อโซเชียลจีนเป็นภาษาจีนแยกต่างหาก อันเป็นสิ่งทนได้ยากสำหรับคนเกาหลีบางส่วนที่เกลียดชังจีนเอามากๆ ด้วย 

ก็ความปลอมของเธอมันดับภาพฝันของฉันนี่! 

คู เซอุง  ให้ข้อมูลว่า คนเกาหลีใช้งานยูทูปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และ 1 ในทุก 529 คนได้รายได้จากแอคเคาท์ของตัวเองด้วย และทิศทางที่กำลังจะเป็นไปก็คือ หากไปถามเด็กๆ ในวัยประถมว่าอยากเป็นอะไร คำตอบที่ได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การเป็น “ครีเอเตอร์” หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ลงในโซเชียลมีเดียนั่นเอง 

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะขึ้นมาถึงจุดที่ถูกได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นที่ ซง จีอา ได้รับก่อนจะถูกแฉ ซึ่งนั้นแหละคือสิ่งที่ เซ อูคุงผู้สังเกตการณ์สังคมเกาหลีมองว่า มันเป็นเพราะเธอไปดับภาพฝันอันสวยหรูของชาวเน็ตเข้าให้อย่างแรง นั่นก็คือ การสร้างภาพว่าเธอนั้นเป็นพวก “คาบช้อนเงินช้อนทอง” บ้านรวย เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ มีอพาร์ทเมนต์หรูเห็นวิวแม่น้ำฮัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเกาหลีทั่วไปไม่มีโอกาสได้สัมผัส เพราะพวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อจะให้ได้มาซึ่งการบริโภคสิ่งที่อยู่บนยอดปิรามิดเหล่านี้ 

นักวิชาการสุดคูลเจ้าของบทความจึงฟันธงลงไปว่า ที่เธอโดนแคนเซิลหนักขนาดนี้ก็เพราะ ”เธอตอกย้ำด้านที่พวกเขาเกลียดชังในตัวพวกเขาเอง ซงจีอานั้นเป็นภาพแทนที่แสนจะแท้จริงของชีวิตปลอมๆ ที่ครอบงำชาวเกาหลีอยู่ในปัจจุบัน”

นั่นก็คือความดิ้นรนทางวัตถุ จากพื้นฐานที่บ้านไม่ได้เพียบพร้อม แล้วอยากแสดงออกให้เห็นว่าตัวเองมี ในมุมกลับ คนเกาหลียุคใหม่ที่กำลังฝันถึงอาชีพประเภท "content creator" นี้ก็แปลก ที่ชอบคนที่ "คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด" มากกว่าคนที่พยายาม

ทั้งๆ ที่สิ่งที่ซงจีอาทำ มันไม่เห็นจะแปลก คือพยายามอวดรวยด้วยการทำงานหนักเหมือนที่ทุกคนก็เป็นนั่นแหละ ขณะที่ทำงานอย่างหนักเพื่อวัตถุนอกกาย กลับเพ้อฝันอยากเห็นภาพของคนที่สบายโดยไม่ต้องทำอะไร--- ซึ่งแปลกมากว่าจะไปชื่นชมคนแบบนั้นทำไม 

นอกเหนือจากกระแสที่เริ่มตั้งข้องสังเกตโดยชาวเน็ตไทยหัวใจนางฟ้าว่า “มันจะเกินไปไหม” กระแสนี้ในเกาหลีก็เริ่มมีเช่นกัน ท้ายบทความนี้ในเพจของ  Korea Expose เอง ก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า กี่ชีวิตแล้วที่ต้องสังเวยให้กับ “ความเกลียดชังที่ไร้ขอบเขต” เป็นอีกครั้งที่ “วัฒนธรรมแคนเซิล” ของเน็ตติเซ่นเกาหลีถูกวิพากษ์ แต่ก็คาดได้เช่นกันว่า มันจะไม่หยุดแค่กรณีนี้ 

ที่มา : Song Ji-ah: The Perfect Korean Celebrity