การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) นับเป็นเครื่องย้ำเตือนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนไว้หลายครั้งแล้วว่าไวรัสดังกล่าวจะขยายตัวและยังเป็นภัยคุกคามทั่วโลกต่อไปหากการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงในทุกประเทศ
และแม้ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายสิบประเทศพร้อมจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามให้กับประชาชนในขณะนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกซึ่งไม่มีวัคซีนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นแผนงานแจกจ่ายวัคซีนของโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ก็มีปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าด้วยเช่นกัน
แม้ในขณะที่นักวิจัยยังพยายามหาคำตอบว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่า และจะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้หรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนเช่น นายแพทย์ Richard Hatchett ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานชื่อ CEPI ที่ช่วยสนับสนุนงานโครงการ COVAX ขององค์การสหประชาชาติอยู่ได้ชี้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาสซึ่งอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์รวมทั้งจากความไม่ทัดเทียมของการกระจายวัคซีนทั่วโลกด้วย และยิ่งเชื้อดังกล่าวมีโอกาสแพร่กระจายในกลุ่มผู้ยังไม่ได้รับวัคซีนมากเพียงใดโอกาสที่จะกลายพันธุ์และกลายเป็นภัยต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
องค์การสหประชาชาติจะมีโครงการ COVAX ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยแจกจ่ายวัคซีน โควิด-19 ให้กับประเทศที่ยากจนอย่างทั่วถึงก็ตามแต่ความไม่ทัดเทียมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังเกิดขึ้นโดยจะเห็นได้ชัดมากที่สุดในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชาชนในทวีปนี้เพียงไม่ถึง 7% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน
เป้าหมายเดิมของโครงการ COVAX นั้นคือการกระจายวัคซีนอย่างทัดเทียมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่จากเป้าหมายเดิมของ COVAX เพื่อแจกจ่ายวัคซีน 2 พันล้านโดสทั่วโลกนั้นการบริจาควัคซีนที่ไม่เป็นไปตามเป้าทำให้ COVAX ต้องลดตัวเลขดังกล่าวลงเหลือเพียง 1,400 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็หมายถึงการจะต้องส่งวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาให้ได้อย่างน้อยวันละ 25 ล้านโดสทุกวันจนถึงสิ้นปี แต่ความเป็นจริงก็คือตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา มีวัคซีนที่ COVAK สามารถแจกจ่ายได้เพียงวันละราว 4 ล้านโดสเท่านั้นเอง
ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นขณะที่มีประเทศพัฒนาซึ่งร่ำรวยแล้วกว่า 60 ประเทศสามารถเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนส่วนผู้คนในประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แต่อุปสรรคเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนของโครงการ COVAX นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการบริจาคของประเทศร่ำรวยซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายและปัญหาโลจิสติกส์หรือการกระจายวัคซีนไปถึงผู้คนในประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะขาดแคลนระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี ไม่มีโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งอย่างทั่วถึง รวมทั้งยังขาดอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เข็มฉีดยาเท่านั้น แต่ COVAX ยังพบปัญหาการที่วัคซีนบริจาคจากประเทศพัฒนาแล้วหมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุลง เป็นผลให้ประเทศผู้รับบริจาคไม่สามารถนำไปใช้ได้ อย่างเช่นเมื่อกลางปีนี้ รัฐบาลของคองโกได้ส่งคืนวัคซีนที่ได้รับจากโครงการ COVAX เพราะวัคซีนดังกล่าวใกล้จะหมดอายุจนไม่สามารถนำไปฉีดให้กับทุกคนได้ทันเวลา
และประการท้ายสุดถึงแม้โครงการ COVAX จะสามารถนำส่งวัคซีนไปยังประเทศเป้าหมายได้โดยวัคซีนไม่ใกล้หมดอายุก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับบริจาควัคซีนซึ่งยังคงลังเลไม่อยากรับเพราะไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ด้วย
ในส่วนของสหรัฐฯ เองนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้กับโครงการ COVAX ไปแล้วราว 275 ล้านโดสแต่ก็ยังไม่ถึง หนึ่งในสามของจำนวนที่รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนเคยให้สัญญาไว้ ส่วนสหภาพยุโรปเองก็ได้บริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้โครงการ COVAX ราวหนึ่งในสามจากจำนวน 400 ล้านโดสที่เคยให้สัญญาไว้เช่นกัน
ที่มา : https://www.voathai.com/a/omicron-vaccine-inequity-ct/6333051.html