สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือนดันไทยเข้าเจรจา CPTPP โดยไม่ศึกษาผลได้ผลเสียจากปัจจัยใหม่ ส่งผลกระทบกับคนในประเทศ พร้อมระบุ ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีมติร่วมมือกับสภาหอการค้า ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบข้อดี - เสียจากการเข้าร่วม CPTPP
ตามที่คณะรัฐมนตรีต้องการให้ไทยยื่นหนังสือของเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 14 ธันวาคมนี้นั้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอบ. ได้ร่วมประชุมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทั่งมีข้อสรุปร่วมกันและขอให้ กนศ. จัดประชุมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงยังมีความร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่าการเข้าร่วมจะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน ทั้งการค้าและการลงทุนที่เปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งควรเป็นแนวทางในการตัดสินทางนโยบายที่สำคัญ
ก่อนหน้านี้ สอบ. ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำหนังสือข้อเสนอเพื่อชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรี กนศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลขที่หนังสือที่ สอบ.025/2564 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เนื่องจากมองว่าการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากมีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน ดังต่อไปนี้
1. จากผลได้หรือข้อดีที่กล่าวถึงอ้างอิงการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (จัดจ้าง) ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท งานศึกษานี้ได้ถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่า ไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non - state actor) อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเชิงมหภาคที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ รวมถึงการตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันทีร้อยละ 100 ของผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองก็ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
2. จากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP อาจทำให้เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าว กุ้ง ยาง แต่จะส่งผลกระทบอย่างมากและกว้างขวางต่อเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตร จากการลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 อาทิ เกษตรกรในกลุ่มที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชาวสวนมะพร้าว ชาวไร่ที่ปลูกถั่วเหลือง เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร และเลี้ยงโค
3. ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอีกหลายด้าน หลายประเด็น หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ดังนี้
1) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage
2) ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
3) รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป
4) ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้
5) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ
6) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนในการจำหน่าย ปัญหาถูกหลอกถูกโกงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น
7) ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติจากการบังคับเข้าอนุสัญญา UPOV1991
8) เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2 - 6 เท่า
9) ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู
สารี มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการ กนศ. ยังไม่ดำเนินการตามข้อสั่งการนายกฯ ที่รับทราบข้อห่วงกังวลดังกล่าวและบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาและประสานกับ สอบ. อ้างอิงถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึง สอบ. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ไม่เพียงเท่านั้น กนศ. ยังมีมติไม่ทำการศึกษาเพิ่มเติมกรณีที่จีน ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรเข้าร่วมว่าจะเป็นประโยชน์หรือส่งผลกระทบทางลบกับไทยที่จะเข้าร่วมหรือไม่อย่างไร รวมทั้งบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตการระบาดของโควิด - 19 ซึ่งพื้นที่ทางนโยบายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและอาจได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องของนักลงทุนต่างชาติต่อนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ไทยเองก็กำลังเผชิญอยู่
ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม สอบ. ที่ทำหน้าที่ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน ยืนยันข้อเสนอแนะเดิมที่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วอีกครั้ง คือ ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง กล่าวคือ จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป
ทั้งนี้ ข้อกล่าวอ้างที่การเจรจาเข้าร่วมใช้เวลากว่าจะมีผลบังคับใช้ ไม่สามารถเป็นหลักประกันป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่จัดทำกรอบการเจรจา ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะสำคัญของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ว่า ‘ไทยยังไม่สมควรที่จะเข้าร่วมในความตกลง CPTPP’ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน หากจะมีการเจรจาควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว เพราะแม้คณะรัฐมนตรีจะกล่าวว่าเข้าร่วมแบบมีข้อสงวน แต่เป็นการพูดปากเปล่า ไม่มีแม้แต่สัญญาประชาคมว่า อะไรคือข้อสงวนที่ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องถือเป็นบรรทัดฐานในการเจรจา