สรุป
- เอฟทีเอ ว็อทช์ แนะรัฐบาลถ้าไม่พร้อมเรื่อง CPTPP ไม่ควรเจรจา รัฐบาลไม่มีงบประมารปรับโครงสร้างเตรียมพร้อมจะกระทบหนัก
- ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ตั้งข้อสังเกตทำไมรัฐบาลจะเข้าร่วม CPTPP ให้ได้ เหมือนมีใครอยากได้ๆ ทั้งที่อยู่บนความเสี่ยงและความสูญเสียของประเทศ
- แนะรัฐบาลไทยต้องมีความพร้อม มีข้อมูลเพียงพอ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะประเด็นอ่อนไหว
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ออกรายงานผลการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) พร้อมข้อเสนอแนะส่งให้กับรัฐบาล ในวันที่ 7 เม.ย. นี้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะประเมินความพร้อมไทยก่อนเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเจรจาเข้าร่วมปลายเดือน เม.ย. นี้โดยกลุ่มฯ เน้นว่าถ้าไม่พร้อมไม่ควรเจรจา รัฐบาลไม่มีงบประมาณปรับโครงสร้างเตรียมความพร้อมจะกระทบหนัก
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า ในการประชุมเตรียมการของหน่วยราชการและแบบฟอร์มเตรียมความพร้อม โดยจัดกลุ่มเนื้อหาข้อบทเป็น 3 กลุ่มคือ 'สีเขียว' ประเด็นที่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ, 'สีเหลือง' เป็นประเด็นที่ไม่มีในระบบปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญจะต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งข้อมูล งบประมาณและเวลา และ 'สีแดง' ประเด็นที่ไม่มีในระบบปัจจุบัน หากมีการแก้ไขจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งมีแรงกดดันให้ประเด็นต่างๆ ถูกจัดอยู่ใน 'สีเขียว' หรือ 'สีเหลือง' แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะลดความสำคัญของประเด็นอ่อนไหว
ซึ่งเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตลอด 120 วันก่อนสรุปเป็นรายงาน เช่น เรื่องผลกระทบจาก UPOV 1991 กับการเข้าถึงยาและการเกษตร การเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนยากับการจดสิทธิบัตรที่จะทำให้มียาชื่อสามัญมาแข่งในตลาดได้ล่าช้าออกไป ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการเมื่อไทยประกาศใช้มาตรการซีแอลและนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประชาชนด้านต่าง ๆ เป็นต้น นัยสำคัญที่น่าเป็นห่วงของกระบวนการนี้ คือ การทำให้รายงานผลกระทบจาก CPTPP ของรัฐสภามีน้ำหนักน้อยลง โดยอ้างว่า หน่วยงานรัฐสามารถเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อที่รัฐบาลจะดำเนินการขอเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่ไม่มีคำมั่นสัญญาเรื่องงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปเพื่อรองรับ
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า รายงานผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญฯ ชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP นั้น "เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลัง จากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV" ดังนั้นการเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าวคือการเอาชีวิตของเกษตรกรรายย่อยไปแลกกับผลประโยชน์ที่บางภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์นั่นเอง
เฉพาะผลกระทบในกรณีเรื่องพันธุ์พืชนั้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆ มากถึง 7 ประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น
1. สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ซึ่งหมายถึง การเปิดโอกาสให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชีวภาพนั่นเอง
2.การให้ความคุ้มครองแก่ EDV (Essentially derived variety) ยังจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการที่เกิดขึ้นใหม่จากในแปลงปลูกมาปลูกได้
แค่เพียง 2 ประเด็นนี้ ชี้ให้เห็นแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรพันธุกรรมของประเทศและการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชนอย่างร้ายแรงมากขนาดไหน ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ การขยายอำนาจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ออกไปครอบคลุมถึงผลผลิต (harvested material) และผลิตภัณฑ์ (products) ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรด้วย นี่คือเหตุผลที่แม้แต่หน่วยงานราชการ 4 หน่วยงาน ซึ่งหากรวมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งกังวลกับกรณีอุปสรรคจาการพัฒนายาสมุนไพรแล้วจะกลายเป็น 5 หน่วยงานที่เห็นว่าประเทศไทยขาดความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงนี้
ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการพัฒนาอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากสหประชาชาติกำลังดำเนินการจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหารโลก (World Food Summit 2021) ในปีนี้ รัฐบาลควรระงับการเดินเข้าร่วมความตกลงซึ่งหวังประโยชน์ลมๆ แล้งจากการค้าเล็กๆ น้อยนี้เสีย แล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพทั้งในส่วนการวิจัยสาธารณะ และการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยตลอดจนวิสาหกิจท้องถิ่นดังที่ปรากฎในข้อเสนอเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรมและพันธุ์พืชของสภาฯ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า ทางสภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน พบว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็กพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 มีบริษัทที่มีขนาดตลาด 1,000 ล้านขึ้นไป เพียง 17% (21 แห่ง จาก 123 แห่ง) สัดส่วนการผลิตยาในประเทศ เมื่อเทียบกับ การนำเข้ายา จะเห็นว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 69% ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียง 29% ในปี 2562 และมีแนวโน้มการนำยาเข้าสูงขึ้นทุกปี และการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590): ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้นมาจากราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2.อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบัน 71% เป็น 89%
3.มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 100,000 ล้านบาท
จะเห็นว่า การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ทำไมรัฐบาลจะเอาให้ได้เข้าร่วม CPTPP ให้ได้ เหมือนมีใครอยากได้ๆ ทั้งๆ อยู่บนความเสี่ยงและความสูญเสียของประเทศ เรื่องนี้คณะกรรมการธิการวิสามัญฯ ที่สภาผู้แทนฯ แต่งตั้งให้ศึกษาก็มีรายงานความเห็นเสนอต่อสภาฯ แล้วว่า ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม ต้องเตรียมความพร้อม แต่เหมือนรัฐบาลจะดึงดัน
ในประเด็นผลกระทบต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เอาเข้าร่วมในการเจรจาความตกลง CPTPP เพราะมีแต่เสียกับเสีย และสนับสนุน กระทรวงสาธารณสุขที่มีข้อเสนอ ให้คงสีแดง ขอสงวนประเด็นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม ทั้งสถานที่ดื่มที่การขาย การส่งเสริมการขาย การโฆษณา เพื่อลดการเข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย และลดการสูญเสียจากผลกระทบต่างๆทางทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน แต่ CPTPP มุ่งเปิดการแข่งขันทางการค้า บริการ การขนส่ง CSR การส่งเสริมการขาย การโฆษณา ซึ่งจะเป็นอุปสรรค์ต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศอย่างแน่นอน
เพราะความตกลงใน CPTPP จะลดการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐลง แต่กลับเพิ่มอำนาจให้ นักลงทุนมากขึ้น สามารถเข้ามาแทรกแซง มาตรการนโยบายของรัฐที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะมีมาตรการใหม่ๆ ในอนาคต ทำได้ยากหรือด้อยประสิทธิภาพลง รวมไปถึง เสี่ยงถูกฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิภาคระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกข้ามชาติที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ และเราไม่มีความเชียวชาญเพียงพอ เสี่ยงที่จะจ่ายค่าโง่ซ้ำซากเหมือนที่ผ่านๆ มา เรื่องนี้เครือข่ายฯ จับตา และพร้อมเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมเครือข่ายประเด็นอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ถ้ารัฐบาลยังคงดื้อดันจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำว่า ขอให้รัฐบาลเลิกอ้างว่าเป็นเพียงการลองไปเจรจา เพราะทางตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศย้ำหลายครั้งต่อ กมธ.ทั้งสภาและวุฒิสภาว่า หากแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมความตกลงแล้ว จะมาถอนตัวภายหลังโดยยกเหตุผลเจรจาผ่อนผันไม่สำเร็จ เป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเล็กๆ ในเวทีโลก อีกทั้งจนถึงขณะนี้ CPTPP เป็นความตกลงที่มีแค่ 7 ประเทศที่เป็นภาคีที่ให้สัตยาบันแล้วเท่านั้น ไม่มีสมาชิกเก่าจะให้สัตยาบันเพิ่ม สมาชิกใหม่ที่ให้ความสนใจมีเพียงสหราชอาณาจักรที่ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว จนทำให้บรรดาทูตของประเทศสมาชิก 7 ชาตินี้ต้องวิ่งล็อบบี้ให้ไทยเข้าร่วม
ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ผิดคำพูดกับสาธารณชน รัฐบาลต้องทำตามคำแนะนำของสภา คือ ทำกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะหลักในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ส่งถึงรัฐบาล ประกอบไปด้วย
1.ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง
4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า