Skip to main content

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า รัฐบาลอำนาจนิยมทั่วโลกใช้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ปราบปรามควบคุมผู้เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่านับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาพบการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และผู้คนอาจต้องเสียชีวิตจากการขาดการเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสม โดย ‘ราจัต โฆสลา’ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสนับสนุนการวิจัยและนโยบายของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าช่องทางการสื่อสารต่างๆ กลายเป็นเป้าหมาย โซเชียลมีเดียถูกเซ็นเซอร์ และองค์กรข่าวก็ถูกปิด ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 มีทั้งนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและคุมขัง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่รวมถึงข้อมูลวิธีการป้องกันตัวเองและชุมชน โดยทั่วโลกมีผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสนี้ไปแล้วเกือบ 5 ล้านคน และการขาดข้อมูลมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียนี้ขึ้น

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ในกรณีของประเทศจีน ภายในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังพบการระบาดครั้งแรกของโควิด-19 มีการเปิดการสอบสวนอาชญากรรมต่อบุคคลรวม 5,511 กรณี ฐานบิดเบือนและเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่เป็นอันตรายเกี่ยวกับลักษณะและขอบเขตการระบาดของไวรัส ในแทนซาเนียรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี ‘จอห์น มากูฟูลี’ ที่ปฏิเสธการแพร่ระบาดของไวรัสภายในประเทศได้ใช้กฎหมายต่างๆ ต่อต้านและลงโทษการแพร่ "ข่าวปลอม" และมาตรการอื่นๆ จำกัดการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ส่วนทางการนิการากัวก็ใช้กฎหมายฉุกเฉินต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ลงโทษใครก็ตามที่วิจารณ์มาตรการจัดการโควิดของรัฐบาล นอกจากนี้แอมเนสตี้ฯ ยังเตือนว่าในรัสเซียการใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมและบทลงโทษทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับโควิดมีแนวโน้มบังคับใช้ต่อไปเมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุดลง

ส่วนในกรณีของไทย รายงาน “Silenced and Misinformed: Freedom of Expression in Danger During COVID-19" ของแอมเนสตี้ฯ ชี้ว่าไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้มาตรการหรือกฎหมายที่มีอยู่จำกัดการแสดงความคิดเห็นในช่วงการระบาดใหญ่ โดยระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อจำกัดเสียงของคนที่วิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงมีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อเดือนพ.ย. 2562 แต่รายงานของแอมเนสตี้ฯ ก็ชี้ว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการใช้บุคลที่สามที่เป็นอิสระและน่าเชื่อถือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาออนไลน์ที่ดูเหมือนจะเป็น “ข่าวปลอม” และในขณะที่ข้อกล่าวหาเรื่องการรณรงค์สื่อสารสร้างความเกลียดชังและข้อมูลเท็จเพื่อต่อต้านนักสิทธิมนุษยชนถูกเพิกเฉย ทางการไทยกลับไม่รีรอในการใช้กฎหมายปราบปรามที่มีอยู่เพื่อเซ็นเซอร์การสื่อสารที่ “เป็นเท็จ” เกี่ยวกับโควิด-19

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ฯ ระบุว่ามาตการที่เกิดขึ้นลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการเหล่านี้ทันที รวมถึงยังชี้ไปที่บทบาทของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่ายังดำเนินการไม่เพียงพอในการหยุดยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวรัส ซึ่งนี่ทำให้ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบุคคลในการได้รับข้อมูลความคิดเห็นอย่างครบถ้วนและตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง โดยแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้รัฐและบริษัทโซเชียลมีเดียรับรองว่าสาธารณชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานและรวดเร็วทันเวลา โดยชี้ว่านี่เป็นขั้นตอนสำคัญในการลดความลังเลเกี่ยวกับวัคซีนที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
 

อ้างอิง : 
- Covid-19: Global attack on freedom of expression is having a dangerous impact on public health crisis
- 'Unprecedented' crackdown on free speech during COVID-19 pandemic: Amnesty