Skip to main content

ยุคโควิด-19 ทำให้คนสั่งอาหารผ่านแอพฯ มากขึ้น และคนที่ตกงานก็เข้าสู่อาชีพ 'ไรเดอร์' มากขึ้นตามไปด้วย จากการประเมินภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร ในปี 2564 โดย 'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' พบว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารเติบโตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมีคนกดสั่งอาหารไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง ซึ่งมากเป็น 3 เท่า จากก่อนการแพร่ระบาดโควิด19 ในปี 2562 ที่มีการสั่งประมาณ 35-45 ล้านครั้ง

ในเวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง "ไรเดอร์ พระเอกต้องไม่ตกล้อ" นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า จำนวนออเดอร์อาหารที่เพิ่มขึ้น ย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงและจำนวนอุบัติเหตุที่พุ่งขึ้น จากพฤติกรรมการขับขี่ของไรเดอร์ ที่ใช้ความเร็วสูงเพื่อเร่งทำรอบทำเวลา แม้ความเสี่ยงคนทั่วไปจากอุบัติเหตุทั่วไปลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งในการประชุมกันของ  กมธ. บูรณาการการแพทย์ฉุกเฉิน วุฒิสภา ได้มีการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มไรเดอร์ สรุปปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1.  ขับเร็วมาก เพื่อทำเวลา แข่งขันทำรอบ
2.  ไม่เคยชินเส้นทาง
3 . ขับไปมองแผนที่ในมือถือไป
4 . ทำผิดกฎจราจร เช่น ย้อนศร ขับบนทางเท้า ฝ่าไฟแดง
5.  บรรทุกสินค้าหนัก
6.  ทำงานหนัก ไม่ได้พักผ่อน หลับใน
7.  พฤติกรรมลูกค้า / ไม่รับสินค้า ทำให้เกิดความเครียดและโกรธ 
8.  นโยบายคอนแทคเอ้าท์ ส่งผลกระทบต่อการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ

ด้าน อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หากมองจากภายนอกหรือมุมมองของผู้ร่วมใช้ถนน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่เรามักพบเห็นไรเดอร์ขับซิ่ง แทรกเปลี่ยนเลนไปมา รวมถึงฝ่าไฟแดง แต่จากการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมเหล่านี้ ได้เผยให้เห็นข้อมูลอีกด้าน ว่าทำไมนักขับสองล้อถึงยอมเสี่ยงอันตราย ข้อมูลวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ไรเดอร์นับเป็นอาชีพที่มี ความเครียดแฝงอยู่ตลอดเวลา จากการทำวิจัยทำให้เห็นว่ามีปัจจัยมากมาย ที่นำพาไปสู่การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เริ่มตั้งแต่การ “กดแย่งรับงาน” ทำให้ไรเดอร์ไม่มีเวลาคิดถึง เส้นทางและความคุ้มค่าในการรับงาน จากนั้นหลังได้งานก็ยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น เมื่อไปถึงร้านอาหาร บ้างร้านไม่มีที่จอด หากแจ้งลูกค้าว่าต้องจ่ายเพิ่มเติม ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกยกเลิก ส่วนใหญ่จึงต้องแอบจอดตามข้างทาง

"โดยเฉลี่ยแต่ละออเดอร์จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที แต่บางร้าน ใช้เวลาทำนานกว่า 30-40 นาที เมื่อรับอาหารมาจึงต้องรีบขับไปส่งให้ถึงมือลูกค้าโดยเร็ว หลายเส้นทางไรเดอร์ก็ไม่คุ้นชิน ต้องขับรถไปด้วยตาต้องมองแผนที่ไปด้วย ระหว่างนั้นบางครั้งลูกค้าก็ส่งข้อความมาตามเรื่อยๆ ไรเดอร์จึงเป็นอาชีพที่มีความเครียดแฝงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ 1 ใน 3 หรือเกือบ 30% ของไรเดอร์กลุ่มตัวอย่าง 435 คนทั่วประเทศ ต่างเคยประสบอุบัติเหตุทั้ง รถล้ม - รถชน - รถเฉี่ยว และมากถึง 12% รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะที่การจ้างงานจบเป็นครั้งๆ ไม่มีสวัสดิการและสวัสดิภาพทางสังคม" อรรคณัฐ กล่าว 

นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา ยังบอกด้วยว่า แท้จริงแล้วแต่ละเดือนชาวไรเดอร์ ได้ค่าตอบแทนเฉลี่ย 17,712 บาท ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหักต้นทุนในการทำงาน ประกอบด้วย ค่าน้ำมัน ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าบำรุงรักษารถ และค่าเครดิต สำหรับหักจ่ายก่อนไปเก็บจากลูกค้า ตกเฉลี่ยวันละประมาณ 101–150 บาท รวมเฉลี่ยเดือนละ 3,360 บาท เท่ากลับเหลือเงินเพียง 14,352 บาท แลกกับการทำงานเกือบ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และการทำงานที่ยาวนานในแต่ละวัน ยังทำให้ 17.4% เคยเจ็บป่วยจากการทำงานอีกด้วย แบ่งเป็น 1. ปวดเมื่อยตามร่างกาย 59.5% 2. เป็นไข้หวัดจากการตากแดดตากฝน 32.4% 3. เป็นไมเกรนหรือมีความดันผิดปกติ 1.4%

อรรคณัฐ กล่าวว่า อยากเสนอและขอร้องให้ผู้บริโภค ทำความเข้าใจสภาพและรูปแบบการทำงาน ไม่มีใครอยากเกิดอุบัติเหตุ และใช้ความเร็วมาเสี่ยง แต่อาจมีสภาพกำหนด ทำให้แรงงานต้องเป็นลักษณะ เมื่อเราได้ข้อมูลมองอาชีพด้วยความเข้าใจ ให้ใจเย็นปฏิบัติต่อกันด้วยความหวังดี ให้ลดความหงุดหงิด  ลดความกดดันในมุมผู้บริโภค ช่วยลดควมกดดันได้