Skip to main content

ภาคีความร่วมมือ อันได้แก่ แหล่งทุน หน่วยงานระดับภูมิภาคและนานาชาติ ตลอดจนหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรด้านการอนุรักษ์ ได้ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายภาคีเพื่อยกระดับความร่วมมือและดำเนินงานเพื่อให้การลงทุนต่อต้านการค้าสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ภาคีและองค์กรเหล่านี้ได้ออกเอกสารสรุปข้อเจรจา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวทางความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ และมุ่งไปสู่การฟื้นฟูหลังจากนี้

ช่องทางการสื่อสารในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียถือเป็นหนึ่งในผลสำเร็จจากการประชุมระหว่างภาคีเพื่อการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตั้งแต่วันที่ 21-23 ก.ย. ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นทางออนไลน์

อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไมเคิล ฮีธ ได้กล่าวระหว่างการประชุม ซึ่งเป็นผลสำเร็จของโครงการ USAID Wildlife Asia ว่า “ประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ โครงการ USAID Wildlife Asia ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมของเรา ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศและระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยุติ ต่อต้าน และขัดขวางอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมข้ามชาติ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สนับสนุนการจัดการประชุมระหว่างภาคีเพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าในครั้งนี้ ร่วมกับภาคีที่ยืนยาวอย่างสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้รัฐบาลไทย ในขณะที่เราร่วมมือกันยกระดับความพยายามต่อต้านการค้าสัตว์ป่า”

ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า “หลังจากแถลงการณ์เชียงใหม่ของรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย (Chiang Mai Statement of ASEAN Ministers Responsible for CITES and Wildlife Enforcement on Illegal Wildlife Trade) ที่ออกมาเมื่อปี 2562 อาเซียนก็ได้ดำเนินงานส่งเสริมให้มีเวทีเสวนาในประเด็นนโยบายด้านการค้าสัตว์ป่าทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงการลดความต้องการการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า และการสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการประสานความร่วมมือจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการยุติการค้าสัตว์ป่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้ายที่สุด ผมหวังว่าการประชุมออนไลน์ในวันนี้จะช่วยผลักดันการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต”

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โครงการ USAID Wildlife Asia ได้ดำเนินงานเพื่อต่อต้านอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและปกป้องพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสนับสนุนให้เกิดกฎหมายการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า การจับกุมและดำเนินคดีการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และลดความต้องการในการซื้อขายและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผ่านโครงการรณรงค์ที่มีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ โครงการยังช่วยยกระดับการประสานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าในระดับภูมิภาคให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า USAID Reducing Demand for Wildlife ซึ่งต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ USAID Wildlife Asia โดยจะดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า พ.ศ. 2564-2568 (Plan of Action for the ASEAN Cooperation on CITES and Wildlife Enforcement 2021-2025) ซึ่งโครงการ USAID Wildlife Asia ได้ร่วมสนับสนุนการจัดทำขึ้นด้วย นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินงานโดยนำผลจากการประชุมในครั้งนี้ไปเป็นแนวทางในเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการประสานงานและประสานความร่วมมือขอ งองค์กรภาคีเครือข่ายในระดับภูมิภาคต่อไป

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือกับองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) โครงการคุ้มครองสัตว์ป่าโลกโดยธนาคารโลก (World Bank Global Wildlife Program) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme)

ตั้งแต่ปี 2559–2564 โครงการ USAID Wildlife Asia ซึ่งมีงบประมาณ 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังได้ดำเนินงานในด้านต่อไปนี้

- ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการในการซื้อขายและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยอิงจากผลการวิจัยที่มีหลักฐานรองรับ โครงการรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ที่ตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เวียดนาม และจีน ลดลงมากกว่าร้อยละ 50
 
- พัฒนากฎหมายและนโยบายด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าทั้งหมด 10 นโยบายในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อเพิ่มค่าปรับและบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่า
 
- สอดแทรกหลักการทำงานแบบประสานความร่วมมือในหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่า โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่จาก 137 หน่วยงานใน 24 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา
 
- ระดมทุนจำนวน 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐฯ และเอกชน