แฮชแท็ก #ตั๋วช้าง กลายเป็นเทรนด์ที่คนพูดถึงออนไลน์กันมาก หลังจาก 'รังสิมันต์ โรม' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พยายามอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง #ตั๋วตำรวจ ในสภา เมื่อ 19 ก.พ.2564 แต่ถูกประท้วงจากทั้ง ส.ส.พรรครัฐบาล และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งให้หยุดการอภิปราย ทำให้รังสิมันต์ต้องออกไปแถลงนอกสภา
'ช้าง' ที่ไม่มีใครอยากให้พูดถึง ตรงกับประโยคในภาษาอังกฤษที่พูดถึง elephant in the room ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ช้างในห้อง" แต่ที่จริงแล้วเป็นคำอุปมาอุปมัย ซึ่งพจนานุกรมเคมบริดจ์อธิบายว่าหมายถึง "ปัญหา หรือสถานการณ์ยากลำบากที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่คนที่เกี่ยวข้องไม่อยากพูดถึง"
ส่วนเว็บไซต์ Grammarist ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ก็อธิบายว่าประโยคนี้เป็นการเปรียบเทียบถึงเรื่องสำคัญที่ไม่มีคนอยากพูดถึง เพราะสิ่งนั้นเป็นปัญหาที่ชวนให้อึดอัดใจ หรือไม่ก็เป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก
แม้จะไม่ทราบที่มาชัดเจน แต่พบว่ามีการกล่าวถึงอุปมาอุปมัยนี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรประมาณยุค 1950 ซึ่งความหมายที่พูดกันในยุคนั้นก็ตรงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าต้นตอที่ทำให้เกิดประโยคเปรียบเทียบนี้มาจากละครเพลงบรอดเวย์ 'จัมโบ' ซึ่งเปิดแสดงช่วงปี 1935 (พ.ศ.2478) ในสหรัฐอเมริกา โดยมี 'จิมมี ดูรันเต' เป็นนักแสดงนำ
องค์สำคัญในละครจัมโบที่สะท้อนภาพ Elephant in the room คือตอนที่ดูรันเตถูกตำรวจเรียกให้หยุดขณะกำลังเดินมากับช้าง 'จัมโบ' และตำรวจถามว่ากำลังทำอะไรกับช้าง ซึ่งคำตอบของจิมมี่คือ "ช้างอะไร" นักภาษาศาสตร์จึงคาดว่าการแสดงตอนนี้เองที่ทำให้เกิดอุปมาอุปมัยเรื่องช้างในห้อง สื่อถึงเรื่องใหญ่โตและมองเห็นชัดเจน แต่คนที่เกี่ยวข้องทำเป็นมองไม่เห็น เพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไร