แม้เมื่อปีที่ผ่านมานักแสดงหญิงเกาหลีใต้หลายคนจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับภาพยนตร์แนวดราม่าและคอมเมดี้ที่มีผู้หญิงรับบทบาทนำ ไม่ว่าจะเป็น 'ออมจองฮวา' จาก 'Okay! Madam', 'คิมฮเยซู' ใน 'The Day I Died', หรือ 'โกอาซอง' จาก 'Samjin Company English Class' อย่างไรก็ตาม นี่อาจยังยากที่จะสรุปได้ว่าภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่มีตัวละครหญิงเป็นตัวนำกำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากหนังทุนสูงหลายเรื่องได้เลื่อนฉายจากโควิด-19 ขณะที่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โคเรียไทมส์ถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังถูกสะท้อนให้เห็นในวงการภาพยนตร์เกาหลี จากผลสำรวจที่พบว่านักแสดงผู้ชายยังคงได้ปรากฏตัวและพูดมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า ในภาพยนตร์ 20 เรื่องที่ทำรายได้สูงสุดซึ่งฉายระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2563-30 มิ.ย. 2564
ในจำนวนภาพยนตร์ 20 เรื่องดังกล่าวประกอบไปด้วย Deliver Us From Evil, Peninsula, Steel Rain 2: Summit, Samjin Company English Class, Collectors, OK! Madam, Hard Hit, The Golden Holiday, Mission Possible, Best Friend, Voice of Silence, Waiting For Rain, Oh! My Gran, Book of Fish, Recalled, The Day I Died, Josee และ The Swordsman
ตัวเลขดังกล่าวได้มาจากเทคโนโลยีเอไอที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (KIST) โดยเว็บไซต์หนังสือพิมพ์โคเรียไทมส์รายงานว่า โปรดิวเซอร์และนักวิจัยของ KIST ยังได้วิเคราะห์ภาพตัวแทนด้านเพศสภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ 20 เรื่องบนพื้นฐานตัวชี้วัดเชิงปริมาณ 7 ข้อ ได้แก่ ความหลากหลายทางอารมณ์ เวลาที่ปรากฏตัวในจอ ความถี่ของภาพช็อตโคลสอัพ อายุ แว่นตา การแต่งหน้า และรูปแบบของวัตถุสิ่งของที่รายรอบ
ขณะที่ข้อมูลซึ่งถูกเผยแพร่ในงาน Bechdel Day 2021 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. แสดงให้เห็นว่าในปีนี้ภาพยนตร์ที่ผ่านเกณฑ์แบบทดสอบเบ็กเดิล (Bechdel Test) หรือการวัดการนำเสนอภาพผู้หญิงในภาพยนตร์โดยกำหนดให้ต้องมีตัวละครผู้หญิงที่มีชื่อในภาพยนตร์อย่างน้อย 2 ตัวละครและตัวละครผู้หญิงที่มีชื่อต้องคุยกันอื่นที่ไม่ใช่เรื่องผู้ชาย ตัวละครผู้หญิงในภาพยนตร์เหล่านี้ที่ผ่านมาเกณฑ์ได้แสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็จะมีลักษณะการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกับตัวละครผู้ชายซึ่งมีแนวโน้มแสดงอารมณ์สุดโต่งและเป็นการแสดงออกเชิงรุกมากกว่า เช่น โกรธ เกลียดชัง รังเกียจ ในขณะที่ตัวละครผู้หญิงจะแสดงออกถึงอารมณ์แนวรับมากกว่า เช่น กลัว ความเศร้า และประหลาดใจ
ส่วนในภาพยนตร์เรื่องที่มีตัวละครผู้ชายเป็นตัวนำ ตัวละครชายก็มักจะปรากฏบนหน้าจอและพูดบ่อยมากกว่าตัวละครหญิงประมาณ 2 เท่า ขณะที่ในภาพยนตร์ที่มีนักแสดงชายและหญิงรับบทนำร่วม ผู้ชายก็ยังคงปรากฏตัวบนหน้าจอมากกว่าผู้หญิงอยู่ดี หรือแม้แต่ในหนังที่มีตัวละครผู้หญิงเป็นตัวนำ ผู้ชายก็ยังปรากฏตัวบนหน้าจอและมีเวลาพูดเท่าๆ กับตัวละครผู้หญิงที่เป็นตัวหลัก
ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าสื่อได้เผยแพร่มาตรฐานเกี่ยวกับความงามสำหรับตัวละครผู้หญิงในภาพยนตร์ โดยพบว่าอายุเฉลี่ยสำหรับบทนำฝ่ายหญิงในภาพยนตร์ปีที่แล้วอยู่ที่ 25.2 ปี ส่วนบทนำชายอยู่ที่ 34.4 ปี ขณะที่ตัวละครหญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจะพบน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในฐานะบทนำ นอกจากนี้ยังพบว่าตัวละครผู้หญิงในภาพยนตร์ยังมีแนวโน้มการปรากฏตัวโดยแต่งหน้ามากกว่าผู้ชาย ส่วนตัวละครผู้ชายในภาพยนตร์ก็มักจะสวมแว่นตามากกว่าตัวละครผู้หญิง ซึ่งการสวมแว่นตาถูกตีความว่าอาจเป็นความพยายามแสดงถึงภาพลักษณ์ของความฉลาด ขณะที่ในเรื่องของวัตถุสิ่งของที่ปรากฏใกล้กับตัวละครก็พบว่ามักจะเห็นตัวละครชายสวมเนคไท ขับรถ ใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะที่ตัวละครหญิงจะอ่านหนังสือ ดูทีวี ถือถ้วย และต่อหน้าผู้ชายที่สวมเนคไท