ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนเมียนมาหลากหลายกลุ่มรวมตัวต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายแรงงาน พระสงฆ์ กลุ่มนักแสดง-นายแบบ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนรุ่นใหม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทั้งบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู มีทั้งการเดินขบวนตามท้องถนน การเคาะหม้อเคาะไหไล่สิ่งอัปมงคล การนัดหยุดงานประท้วง รวมถึงแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารในสื่อออนไลน์
ด้วยเหตุนี้ ผู้แทนประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (UNHRC) จึงจัดประชุมด่วนที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 12 ก.พ.2564 เพื่อหารือสถานการณ์ในเมียนมา หลังเกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและคุมขังเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการใช้กำลังรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายราย
เว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานอ้างอิง 'โทมัส แอนดรูว์' ผู้สอบสวนพิเศษของ UNHRC ที่ระบุว่า ประชาชนเมียนมากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย แต่ก็ยังกล้าหาญที่จะออกมาเดินขบวนต่อสู้เรียกร้องทางแก้ปัญหา ที่ประชุม UNHRC จึงควรยืนหยัดสนับสนุนหลักการและคุณค่าที่ชาวเมียนมากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาเอาไว้เช่นกัน
::: ท่าทีนานาชาติที่มีต่อการรัฐประหารในเมียนมา :::
'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เป็นผู้นำประเทศแรกที่ออกมาตอบโต้การรัฐประหารในเมียนมา โดยออกคำสั่งระงับความสัมพันธ์ชั่วคราว ทั้งยังห้ามคณะรัฐประหารเดินทางเข้าประเทศนิวซีแลนด์
ส่วน 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศคว่ำบาตรและห้ามนายพลชาวพม่าที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทั้งยังระบุว่าจะดำเนินการสอบสวนและอายัดบัญชีธนาคารสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อรัฐประหารในเมียนมา แต่ยืนยันว่าจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเฉพาะกลุ่มผู้ก่อรัฐประหาร จะไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน
ขณะที่ 'อันตอนิอู กูแตร์รีช' เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ แถลงประณามการรัฐประหารและการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม หลังมีรายงานว่าตำรวจในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ใช้กระสุนยางและรถฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง รวมถึงมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ผู้ชุมนุมในเมืองเมียวดี
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เป็นผู้นำประเทศเดียวที่ออกมาเปิดเผยว่าได้รับจดหมายจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นการชี้แจงเหตุผลเรื่องการรัฐประหารในเมียนมา และ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า สนับสนุนการตัดสินใจของเมียนมา และเชื่อว่าอีกไม่นานเมียนมาจะกลับสู่ประชาธิปไตย
::: ภาคประชาชนเมียนมาและเอกชนต่างชาติตอบโต้รัฐบาลทหาร :::
ทางด้านเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ชาวเมียนมาใช้เป็นเครื่องมือในการประท้วงและแสดงความคิดเห็น ระบุว่าบริษัทได้สั่งระงับคำร้องของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการปิดกั้นข้อมูลของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหาร โดยย้ำว่าเฟซบุ๊กจะปกป้องข้อมูลที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
ขณะที่สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรครัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ ประกาศจะฟ้องร้องต่อคณะกรรมาธิการทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และสั่งจับกุมคุมขังสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี รวมถึง 'อองซาน ซูจี' ผู้นำพรรค โดยไม่มีการตั้งข้อหาที่ชัดเจน ทั้งยังคุมตัวนานเกิน 24 ชั่วโมง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 344
ส่วนบริษัท เรเซอร์ ของสิงคโปร์ ประกาศเมื่อ 9 ก.พ.ว่าจะพิจารณาถอนการร่วมทุนกับบริษัทเวอร์จิเนีย โทแบกโค ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ในเมียนมา เจ้าของแบรนด์เรดรูบี้และพรีเมียมโกลด์ เพราะบริษัทดังกล่าวเชื่อมโยงกับเครือข่ายนายทหารที่ก่อรัฐประหาร ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทต่างชาตินอกเหนือจาก 'คิริน' เบียร์ญี่ปุ่น ที่ระบุว่าจะถอนการร่วมทุนกับเครือข่ายทหารเมียนมา และจะไปลงทุนร่วมกับเอกชนแทน