Skip to main content

สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานกรณีตำรวจไทยถูกออกหมายจับและควบคุมตัว สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ต้องหาในคดียาเสพติด หลังถูกคลุมถุงดำจนหมดสติและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อต้นเดือน ส.ค. และคลิปบันทึกเหตุการณ์ขณะตำรวจก่อเหตุซ้อมทรมานผู้ต้องหาคนดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย หลังทนายความชื่อดังเปิดเผยคลิปดังกล่าวต่อสาธารณะเมื่อ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม 'พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล' หรือ 'ผู้กำกับโจ้' ซึ่งเป็นนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาและถูกระบุว่าเป็นผู้ลงมือในคลิปดังกล่าว กลับลอยนวลหลบหนีไปได้ แม้จะเป็นคดีที่คนในสังคมให้ความสนใจอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวของ AP รายงานว่า การทุจริตในระดับเล็กน้อย เช่น การรีดไถเงินจากผู้ขับขี่ยานพาหนะ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ไม่ยากในกลุ่มตำรวจชั้นผู้น้อย และวงการตำรวจไทยมีประวัติพัวพันการซ้อมผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงการก่ออาชญากรรมโดยตำรวจ โดยเอพีอ้างถึงคดี #เพชรซาอุ ซึ่ง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ถูกตัดสินลงโทษจำคุกข้อหาลักพาตัวและสังหารพยานในคดี

คดีสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตำรวจเอี่ยว 'อุ้มฆ่า-อำพรางคดี'

รายละเอียดคดีเพชรซาอุฯ เริ่มจาก 'เกรียงไกร เตชะโม่ง' อดีตคนงานไทยที่ทำงานในวังของกษัตริย์ในประเทศซาอุดีอาระเบียช่วงปี 2532 ได้ขโมยเครื่องเพชรจำนวนหนึ่งและเดินทางกลับมายังไทย แต่ พล.ต.ท.ชลอ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการสืบสวนและจับกุมเกรียงไกรได้อย่างรวดเร็วในปี 2533 และมีการซัดทอดไปยัง 'สันติ ศรีธนะขัณฑ์' เจ้าของร้านเพชรรายใหญ่ในย่านเจริญกรุง ว่าเป็นผู้รับซื้อของกลาง จากนั้นตำรวจและรัฐบาลไทยได้นำเพชรที่ถูกระบุว่าเป็นของที่ขโมยมา ไปส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ทางซาอุดีอาระเบียแจ้งว่าเครื่องเพชรที่ถูกส่งคืนเป็นของปลอม ทำให้ทางการไทยต้องรื้อฟื้นคดีอีกครั้งในปี 2537 และ พล.ต.ท.ชลอ เป็นผู้สั่งการให้ทีมตำรวจลักพาตัวภรรยาและลูกของสันติ ศรีธนะขัณฑ์ มาต่อรองเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องเพชร แต่ทั้งสองรายเสียชีวิต 

ด้วยเหตุนี้ ทีมตำรวจในการดูแลของ พล.ต.ท.ชลอ จึงจัดฉากการเสียชีวิตของภรรยาและลูกของสันติให้เหมือนกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ทีมสอบสวนของตำรวจอีกชุดหนึ่งเปิดโปงคดีดังกล่าว นำไปสู่การจับกุม พล.ต.ท.ชลอ และเนื่องจากเป็นคดีอื้อฉาวระหว่างประเทศ พล.ต.ท.ชลอ ซึ่งไม่เปิดเผยว่าเพชรสีฟ้าที่ทางการซาอุดีอาระเบียต้องการอยู่ที่ไหน ถูกตั้งข้อสงสัยว่ายักยอกของกลาง ทั้งยังพัวพันคดีลักพาตัวและฆาตกรรมแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ จึงถูกตัดสินลงโทษจำคุกในปี 2540 แต่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2556 

ปัญหาเชิงระบบ ทำให้ตำรวจกลายเป็นมาเฟีย

ขณะที่ South China Morning Post สื่อฮ่องกง อ้างอิง 'พอล แชมเบอร์ส' นักวิชาการต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา ระบุว่า คลิปคลุมถุงดำผู้ต้องหาสะท้อนปัญหาเชิงระบบในแวดวงตำรวจ เพราะนายตำรวจชั้นผู้น้อยได้เงินเดือนต่ำจนต้องเรียก 'ค่าน้ำร้อนน้ำชา' จากคดีเล็กๆ น้อยๆ จนกลายเป็นปัญหาทุจริตรายวัน ทำให้ตำรวจดีๆ ที่มีอยู่ถูกกลืนด้วยตำรวจฉ้อฉลที่ทำตัวเป็นมาเฟียเสียเอง

นอกจากนี้ สื่อฮ่องกงยังระบุด้วยว่า นายตำรวจระดับสูงของไทยก็มีประวัติเกี่ยวพันกับการทุจริต เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพราะนอกจากตำรวจจะไม่ค่อยถูกดำเนินคดีแล้ว ยังมีการปล่อยให้ผู้ต้องหาในคดีดังที่เป็นมหาเศรษฐีหลบหนีไปได้ 

สื่อฮ่องกงยกตัวอย่าง 'บอส' วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทธุรกิจในเครือกระทิงแดง ซึ่งขับรถเฟอร์รารีชนตำรวจตั้งแต่ปี 2555 แต่ทางการไทยไม่อาจนำตัวมาดำเนินคดีได้จนถึงปัจจุบัน 

องค์กรสิทธิจี้รัฐบาลตั้งองค์กรอิสระสอบคดีตำรวจ - กำจัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ส่วน 'แบรด อดัมส์' ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW ระบุว่าการปล่อยให้หน่วยงานตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีผู้กำกับโจ้ซ้อมทรมานผู้ต้องหา ก็คงจะไม่แตกต่างจากคดีอื่นๆ ที่ตำรวจไทยเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ แต่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

กรณีผู้กำกับโจ้เป็นสัญญาณปลุกให้รัฐบาลไทยต้องหาทางจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับแวดวงตำรวจหรือผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมา ตำรวจไทยพัวพันกับการซ้อมทรมานและการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาในคดียาเสพติดจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีการประกาศสงครามยาเสพติดในสมัยอดีตรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบราว 2,819 ราย