Skip to main content

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมวงเสวนา “วัคซีนประเทศไทย ก้าวใหม่ฝ่าวิกฤต” ในงาน Health Care 2021 วัคซีนประเทศไทย เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ส.ค.2564 เน้นย้ำ “ความไว้ใจ” เป็นทางออกของวิกฤตโควิดในประเทศไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การแก้ปัญหาสาธารณสุขด้วยความไว้ใจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถามหา CEO ด้านวัคซีนที่ประชาชนเชื่อใจ เตือนผู้มีอำนาจบริหารต้องยอมรับความผิดพลาดและรีบแก้ไข ช่วยธุรกิจ SME และประชาชนให้อยู่รอด คืนความไว้ใจให้กลับมา และคิดถึงอนาคต เพื่อเตรียมตัวฟื้นฟูประเทศและสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด

ในการเสวนาออนไลน์ร่วมกับ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ, ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร และ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ โดยมีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ดำเนินรายการ ชัชชาติได้กล่าวถึงหัวใจที่สำคัญที่สุดในการออกจากวิกฤตครั้งนี้ คือความไว้ใจ (Trust) ที่ตนมองว่าสำคัญเท่าชีวิต ที่วิกฤตตอนนี้ของประเทศไทยน่ากลัวเนื่องจากคนไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน รัฐไม่ไว้ใจเอกชน ไม่ไว้ใจประชาชน ประชาชนก็ไม่ไว้ใจรัฐ เป็นความล่มสลายของความไว้วางใจในประเทศ และปัญหาความไม่ไว้วางใจกันนี้จะยังอยู่ต่อแม้จะพ้นวิกฤตไปแล้ว เมื่อเราไม่ไว้ใจกันเอง ต่างชาติก็จะไม่ไว้ใจเรา การจะรีบฟื้นต้องมีผู้นำที่สร้างความไว้ใจ ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น รัฐต้องยอมรับในสิ่งที่ทำผิดพลาดแล้วรีบแก้ไขเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ต้องรีบแก้มากลัดกระดุมใหม่

ต้องมี CEO ด้านวัคซีนและด้านสุขภาพที่พูดแล้วคนเชื่อถือได้ และมีความกล้าหาญที่จะท้าทายผู้มีอำนาจด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความไว้ใจให้แก่ประชาชน

ในด้านการบริหารเศรษฐกิจ ชัชชาติมองว่า ต้องวางแผนการเปิดประเทศแบบมียุทธศาสตร์ ทั้งเรื่องวัคซีนและการเปิดธุรกิจต่างๆ วางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะการเปิดโรงเรียนที่ต้องเน้นด้านวัคซีนให้นักเรียน และให้ครูเป็นบุคลากรด่านหน้าด้วย ในภาคธุรกิจ เมื่อตั้งมาตรการต่างๆ มาแล้วต้องให้ความช่วยเหลือด้วย เช่น กำหนดให้ตรวจ Rapid Test ต้องจัดหาชุดตรวจราคาถูก รัฐต้องไม่ปล่อยให้ภาระเป็นของเอกชน โดยเฉพาะ SME ที่รัฐต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายให้อยู่รอดได้ พักหนี้ ลดค่าน้ำค่าไฟ สร้างระบบเศรษฐกิจแห่งความไว้วางใจ (Trust Economy) และระบบความไว้วางใจ (Trust Protocol) เพื่อให้ความไว้ใจกลับมา

ในช่วงท้าย ชัชชาติยังฝากถึงประชาชนทั่วไปที่มีความเครียด ความกังวลในการดำเนินชีวิตช่วงวิกฤตว่า ตอนนี้เราควบคุมสถานการณ์เองไม่ได้ ต้องอยู่กับปัจจุบัน ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวให้ดี แต่สำหรับผู้บริหาร ผู้มีอำนาจ อย่าอยู่กับปัจจุบัน ต้องคิดถึงกับอนาคตให้มากเพราะส่งผลกับชีวิตของประชาชน