Skip to main content

ผลสำรวจของบริษัท Comparitech ซึ่งจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ประจำปี 2021 บ่งชี้ว่า ไทยมีสถิติการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา จนติดกลุ่ม 10 ประเทศแรกของโลกที่พลเมืองถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

รายงานสรุปผลสำรวจดังกล่าว Internet Censorship 2021: A Global Map of Internet Restrictions ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดย 'พอล บิสชอฟ' ผู้เชี่ยวชาญด้านการเทคโนโลยีและสิทธิความเป็นส่วนตัว ระบุรายชื่อ 10 ประเทศจากทั้งหมด 175 ประเทศที่สำรวจข้อมูล พบว่าเกาหลีเหนือและจีน มีคะแนนการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ทั้งคู่ เพราะห้ามพลเมืองใช้งานแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของต่างชาติ ทั้งยังมีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลหลายด้าน และมีคำสั่งให้ผู้บริการแอปพลิเคชันสนทนาทางมือถืออนุญาตให้บุคคลที่ 3 เข้าถึงข้อมูลการสนทนาได้ด้วย

ส่วนอันดับ 2 คือ อิหร่าน และอันดับ 3 มี 8 ประเทศที่ติดโผเพราะมีคะแนนเท่ากัน ได้แก่ เบลารุส กาตาร์ ซีเรีย ไทย เติร์กเมนิสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยกรณีของอิหร่าน มีการปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ฝั่งตะวันตกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือยูทูบ ขณะที่กลุ่มประเทศอันดับ 3 ซึ่งรวมถึงไทย มีสถิติการปิดกั้นสื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

https://cdn.comparitech.com/wp-content/uploads/2020/01/Asia-Final-1-2048x1448.webp

ขณะที่เว็บไซต์ UCA รายงานว่าไทยปิดกั้นการแสดงความเห็นทางสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น อ้างอิงสถิติคดีที่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองที่มีมุมมองต่างจากผู้มีอำนาจรัฐในไทย ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) และกฎหมายนี้เปิดให้กำหนดบทลงโทษสูงสุดราว 10 ถึง 20 ปี ทั้งยังให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการตีความการกระทำความผิดนี้แบบคลุมเครือและกว้างขวางเกินกว่าเหตุ จนกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ

ยูซีเอระบุด้วยว่า นอกเหนือจากการให้เจ้าหน้าที่สอดส่องและดำเนินคดีผู้แสดงความเห็นทางการเมืองที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐโดยใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง ไทยยังปิดกั้นแพลตฟอร์มแบ่งปันสื่อสำหรับผู้ใหญ่ด้วย โดยให้เหตุผลว่าว่าเป็นการควบคุมสื่อลามกอนาจาร ทำให้เว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอสำหรับผู้ใหญ่ที่เคยเข้าถึงได้ในไทยถูกปิดกั้นเพิ่มขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 190 แห่ง รวมถึง 'พอร์นฮับ' ที่ติดอันดับแหล่งรวมวิดีโอประเภทนี้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก