Skip to main content

บริษัทวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม Simularity ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสภาพแวดล้อมในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กองปฏิกูลจำนวนมากถูกทิ้งจากเรือนับร้อยลำบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ และส่วนใหญ่เป็นเรือประมงสัญชาติจีน ซึ่งกองปฏิกูลเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังในพื้นที่

เว็บไซต์ the Insider รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ 'ลิซ เดอร์' ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัท ซิมูลาริตี ในงานเสวนาออนไลน์ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิชาการ ADR ของฟิลิปปินส์ ระบุว่าภาพถ่ายดาวเทียมถูกบันทึกต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 5 ปี ระหว่างวันที่ 14 พ.ค.2558 จนถึงวันที่ 17 มิ.ย.2564 โดยให้เหตุผลว่า เรือสัญชาติจีน 236 ลำ ทอดสมออยู่ในน่านน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกตินัก บริษัทจึงจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มเรือเหล่านี้ และพบว่ามีการทิ้งปฏิกูลลงทะเลเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ ปีเตอร์ โคนิง รองประธานของซิมูลาริตี ระบุว่า ปฏิกูลปริมาณมากที่ถูกทิ้งลงทะเล ทำให้แพลงก์ตอนพืช หรือไฟโทแพลงก์ตอน เพิ่มปริมาณขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนออกซิเจนในทะเล ซึ่งจะกระทบต่อแนวปะการังที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และหากปะการังตาย อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว พร้อมระบุว่า แนวปะการังขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่า 10,000 ปีกว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้

รายงานของซิมูลาริตี สอดคล้องกับข้อมูลของ 'คาร์ล ชูสเตอร์' อดีตนาวิกโยธินชาวอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ในโครงการวิทยาศาสตร์และการทหารของมหาวิทยาลัยฮาวายแปซิฟิก ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ South China Morning Post สื่อฮ่องกง เมื่อเดือน เม.ย. ระบุว่า เรือสัญชาติจีนกว่า 200 ลำ ทอดสมออยู่ใกล้กับแนวปะการังยูเนียนแบงก์ในทะเลจีนใต้ และมีการทิ้งปฏิกูลกว่า 2,000 ตันลงทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ก่อนหน้านี้ยังมีรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่าทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างมาก ในฐานะแหล่งอาหาร หากสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบจากมลพิษต่างๆ จะทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

'เดลฟิน ลอเรนซานา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ รับทราบข้อมูลดังกล่าว และกล่าวว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าปฏิกูลจำนวนมากถูกทิ้งลงในทะเลจริงหรือไม่ เพราะมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โจมตีว่าภาพบางส่วนของซิมูลาริตี ไม่ใช่ภาพถ่ายจากทะเลจีนใต้ แต่เป็นภาพแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟในน่านน้ำทะเลออสเตรเลีย แต่ถ้าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง ถือว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ และต้องตรวจสอบด้วยว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อน่านน้ำทะเลของฟิลิปปินส์ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต มีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลจีน และไม่ได้มีมาตรการใดๆ ต่อการที่จีนส่งเรือต่างๆ เข้าไปในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งเคยเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศ แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกเคยตัดสินเป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์เมื่อปี 2559 โดยระบุว่า จีนไม่มีสิทธิเหนือหมู่เกาะและน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความสำเร็จของอดีตประธานาธิบดี 'เบนิกโน อากีโน ที่ 3' ผู้นำฟิลิปปินส์ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนหน้าดูแตร์เต