Skip to main content

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสมาคมสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) จัดทำโครงการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโวรัสโควิด-19 โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นพ.ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ เพื่อกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ให้มีความถูกต้อง

ดร.ธนกร เปิดเผยว่า ภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มุ่งลดทอนข่าวร้าย ข่าวบิดเบือน ข่าวครึ่งๆ กลางๆ  จึงจะต้องกลั่นกรองข้อมูลและทำแก้ไขให้มีความถูกต้อง และเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกันภารกิจอีกด้าน คือมุ่งรณรงค์ส่งเสริมสื่อที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่เพียงการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่รุนแรง แต่ยังรวมถึงการแพร่ระบาดของข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือที่เรียกว่า Infodemic ซึ่งคำว่า Infodemic เกิดจากการรวมคำสองคำเข้าด้วยกันคือ Information (ข่าวสาร) และ Epidemic (การระบาด) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลที่ปลอมขึ้นมา ประเภทที่ 2 ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ส่วนประเภทที่ 3 ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Mal-information) จะเป็นข้อมูลที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำมาใช้เพื่อทำร้ายบุคคล องค์กร ซึ่งปัจจุบันการแพร่ระบาดของข่าวสารที่เรียกว่า Infodemic เกิดขึ้นจำนวนมาก

“ปกติไวรัสแพร่กระจายเร็วมาก ใช้เวลาไม่นานก็กระจายไปทั่วโลก เช่น ไวรัสสายพันธุ์เดลตา แรกๆ เราคิดว่าอยู่อินเดีย ดูไกลเหลือเกินแต่แป๊บเดียวมาถึงเมืองไทย เช่นเดียวกับข่าวลวงข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 ก็ไปพอๆ กับไวรัส เร็วมาก ข่าวลวงข่าวปลอมโดยเฉพาะข่าวที่ครึ่งๆ กลางๆ ที่เรียกว่าบิดเบือนใส่สีตีไข่ ซึ่งงานวิจัยบอกว่า การแพร่ระบาดของข่าวลวงมันเร็วกว่าข่าวธรรมดาถึง 6 เท่า” ดร.ธนกร กล่าว  

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้โซเซียลมีเดียมาก  มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์, ไลน์, ติ๊กต๊อก ,อินสตาแกรม ,ยูทูป จึงเป็นแหล่งที่รับและแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ขาดกลไกในการพิจารณาว่า ข่าวแบบไหนที่ควรเผยแพร่ต่อ หรือควรเชื่อ หรือควรจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ดังนั้น ในฐานะที่กองทุนสื่อ มีภารกิจในการติดตามข้อมูลข่าวสารตามภารกิจที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว  จึงมีการหารือ และได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโวรัสโควิด 19 เพื่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในการเปิดรับข่าวสารที่ถูกต้องร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ เพื่อเข้ามาเป็นกลไกลในการกรองข่าวโควิด-19 ซึ่งเป็นการทำหน้าที่กระตุ้นเตือน (warning) ให้กับประชาชนและสังคมด้วยการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน 

“เราจะฟังความให้รอบด้าน เราก็เหมือนเป็นเพื่อนที่เชื่อถือได้ของประชาชน ถ้ามีข่าวแบบนี้มาปรึกษาเรา เราจะมีมุมมองในการพิจารณาเปิดรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความถูกต้อง” ดร.ธนกร กล่าว

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบจากข่าวที่เรียกว่าข่าวปลอม หรือ Fake News จำนวนมาก ส่งผลต่อการป้องกันและดูแลตัวเอง โดยข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งแบ่งประเภทข่าวโควิดออกเป็น 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรกภาพรวมกระแสข่าวโควิด-19 พบข่าวบิดเบือน อันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ พบจำนวน 847เรื่อง คิดเป็น 71% หมวดหมู่นโยบายรัฐพบจำนวน 353 เรื่อง คิดเป็น 29% ส่วนหมวดเศรษฐกิจ และหมวดหมู่ภัยพิบัติไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย

ประเด็นที่ 2 คือข่าวที่เกี่ยวกับวัคซีนพบว่าข่าวสุขภาพยังเป็นอันดับ 1 พบจำนวน 514 เรื่อง คิดเป็น 78% หมวดหมู่นโยบายรัฐ พบจำนวน 148 เรื่อง คิดเป็น 22% ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับกระแสการป้องกันและการรักษาโควิด-19 อันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ พบจำนวน 333 เรื่อง คิดเป็น 62% หมวดหมู่นโยบายรัฐพบจำนวน 205 เรื่อง คิดเป็น 38%

นพ.ฆนัท กล่าวอีกว่า ดังนั้นปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นที่ต้องมีกลไกการกรองข่าวที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักสื่อสารมืออาชีพเพื่อให้กับประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีข้อเท็จจริง 

สำหรับการบันทึกข้อตกลงระหว่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ  จะช่วยสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในการเปิดรับข่าวสารที่ถูกต้องในประเด็นโควิด 19 และประเมินเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อ ความคิดของคนในสังคม  โดยจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนซึ่งจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มเป็นประจำทุกวัน  นอกจากนี้จะมีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ Covid Forum โดยเชิญนักวิชาการผู้เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมให้ข้อมูลในประเด็นข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโวรัสโควิด 19 ในทุกสัปดาห์อีกด้วย