Skip to main content

หลังจากเคยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนักหนาสาหัสอันดับต้นๆ ของยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา ในที่สุดอิตาลีก็ประกาศให้ประชาชน 'ปลดหน้ากากอนามัย' อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือน มิ.ย.2564 ทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลไปเมื่อเดือน ก.พ. และนักวิชาการหลายสถาบันพยายามถอดบทเรียนการรับมือโควิดจากอิตาลีว่าทำอย่างไร ส่งผลให้ประเทศฟื้นตัวได้ในเวลาไม่ถึงปี 

ในฐานะที่ไทยเคยถูกเปรียบเป็น 'เวนิสตะวันออก' เมื่อครั้งอดีต และมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันในปัจจุบัน การเรียนรู้วิธีรับมือโควิดจากอิตาลีอาจพอจะมีประโยชน์กับไทยอยู่บ้าง

วิกฤตผู้ติดเชื้อ-การบริหารจัดการงบไม่โปร่งใส เป็นเหตุให้ 'เปลี่ยนผู้นำ'

ช่วงไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2563 'อิตาลี' เป็นประเทศที่ประสบวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงที่สุดในยุโรป ทั้งยังกลายเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อบุคลากรการแพทย์ในหลายโรงพยาบาลออกมายอมรับว่าต้องเลือกตัดสินใจว่าจะรักษาหรือยุติการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยประเมินจากอายุและความเสี่ยง ถ้าผู้ป่วยอายุระหว่าง 80-90 ปีขึ้นไป ก็มีแนวโน้มสูงว่าแพทย์จะไม่รักษาต่อ เพราะบุคลากรที่จะดูแลและอุปกรณ์ยื้อชีวิต 'ไม่เพียงพอ' เช่นเดียวกับภาพรถทหารลำเลียงโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิดซึ่งมีจำนวนสะสมกว่า 127,000 ราย กลายเป็นภาพติดตาผู้คนเมื่อพูดถึงอิตาลีและโควิด

หลังจากเผชิญกับภาวะวิกฤตโควิดจนถึงช่วงปลายปี อิตาลีก็ค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีการขอกู้เงินจากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อมาบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการบังคับใช้มาตรการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิดแบบปูพรม เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อออกไปรักษาตัว แต่เมื่อ 'จูเซปเป คอนเต' นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ถูกตั้งคำถามเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณแก้ไขสถานการณ์โควิด ก็ถูกพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชน รวมถึงกลุ่มบุคลากรการแพทย์กดดันให้ลาออก 

มาริโอ ดรากี อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลี

ผู้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนคอนเตในเดือน ก.พ.2564 คือ 'มาริโอ ดรากี' นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลเอกภาพ จึงเป็นนายกฯ คนนอกในรอบเกือบ 5 ปีของอิตาลี แต่หลายฝ่ายมองว่าเขาเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้ว เพราะหลังจากที่คุมสถานการณ์โควิดได้สิ่งที่ต้องจัดการขั้นต่อไปคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแทบทุกภาคส่วน

ต้องรับฟังผู้เชี่ยวชาญ เร่งตรวจคัดกรอง 

ราฟฟาเอลลา ซาดูน ศาสตราจารย์ประจำโรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมิเชล ซานินี นักเศรษฐศาสตร์ของ Management Lab ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความในเว็บไซต์ Harvard Business Review (HBR) อ้างอิงการบริหารจัดการภาวะวิกฤตของรัฐบาลอิตาลีในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด โดยระบุว่า ประเทศอื่นๆ สามารถบทเรียนจากทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จของอิตาลีได้

บทความใน HBR ระบุว่าปัจจัยที่มีผลอย่างมากที่ช่วยให้อิตาลีฟื้นจากวิกฤตโรคระบาด ได้แก่ การควบคุมผู้ติดเชื้อให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพได้ถ้ามีการเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อนำตัวผู้ติดเชื้อ ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการไปกักตัวโดยเร็วที่สุด โดยในกรณีที่อาการไม่รุนแรงก็จะใช้วิธีกักตัวในที่พักอาศัย รวมถึงการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันด้านสุขอนามัยให้แก่บุคลากรที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อสูง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและการแพทย์ แคชเชียร์ในร้านซึ่งขายของใช้ในชีวิตประจำวัน และผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ

นอกจากนี้ บทความยังระบุด้วยว่า ผู้นำรัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายควบคุมและป้องกันโรคโควิดจะต้องข้ามพ้นอคติส่วนบุคคลให้ได้ เพราะวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ผู้อยู่ในแวดวงการเมืองอาจไม่เคยรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน การรับฟังคำแนะนำของที่ปรึกษาซึ่งส่วนใหญ่นับเป็น 'คนวงใน' อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดได้ จึงจำเป็นต้องรับฟังความเห็นและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรการที่ครอบคลุมและรัดกุมที่สุด 

ระบบต้องทำงานสอดคล้องต่อเนื่อง ถ้าผิดพลาดก็ต้องกลับตัวให้เร็ว

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างในการรับมือวิกฤตโรคระบาด คือ ระบบที่สอดคล้องและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาที่จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันอย่างเข้มงวด ทั้งยังต้องเรียนรู้ว่าวิธีการใดที่ไม่ได้ผล ก็จะต้องปรับตัวให้รวดเร็ว โดยบทความ HBR เปรียบเทียบระหว่างการจัดการสถานการณ์โควิดในแคว้นลอมบาร์เดียและแคว้นเวเนโต ซึ่งต้องล็อกดาวน์เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือมาตรการตรวจคัดกรองและการจัดทำระบบติดตามตัวผู้ติดเชื้อ

https://cdn.pixabay.com/photo/2021/02/16/15/42/people-6021427_1280.jpg

กรณีของแคว้นลอมบาร์เดียยึดแนวทางที่ได้รับมาจากรัฐบาลกลางอย่างเคร่งครัด คือ สั่งปิดกิจการร้านอาหารและร้านขายสินค้า พร้อมทั้งสั่งเว้นระยะห่างทางสังคม และตรวจกลุ่มผู้แสดงอาการป่วย ขณะที่แคว้นเวเนโตขยายการตรวจคัดกรองไปยังกลุ่มผู้ไม่แสดงอาการป่วยหรือผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกลุ่มติดเชื้อด้วย ทั้งยังมีการสนับสนุนชุดตรวจด้วยตัวเองให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง ถ้าชุดตรวจไม่พอก็จะให้ผู้เสี่ยงติดเชื้อกักตัวดูอาการแต่เนิ่นๆ  ทั้งยังมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันสุขภาพบุคลากรการแพทย์และผู้ทำงานบริการในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเวเนโตจึงน้อยกว่าลอมบาร์เดียช่วงหลังปี 2563

การเรียนรู้วิธีจัดการของแคว้นเวเนโตทำให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการรับมือโควิดในอิตาลี และหลังจากที่แยกตัวผู้ติดเชื้อทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการไปกักตัวได้โดยเร็ว ก็ช่วยให้การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในสภาวะคงที่ จากนั้นรัฐบาลจึงมุ่งจัดซื้อจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยอิตาลีเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 ซึ่งหากอ้างอิงสถิติล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย. รวบรวมโดยเว็บไซต์ Our World in Data พบว่าอิตาลีได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเกินกว่า 56.4% ของจำนวนประชากรราว 60 ล้านคน และฉีดเข็มสองไปแล้วราว 31.0% 

ส่วนวัคซีนที่ใช้ในอิตาลี ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา และออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า โดยนายกฯ ดรากี แถลงเมื่อ 25 มิ.ย.ว่าจะยังไม่รับรองการใช้งานวัคซีนจากจีนและรัสเซีย โดยยกตัวอย่างชิลี ซึ่งฉีดวัคซีนซิโนแวคให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อรอบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังระบุถึงวัคซีนสปุตนิกวีของรัสเซียว่ายังไม่ผ่านการรับรองของสำนักงานเภสัชกรรมแห่งยุโรป (EMA)