Skip to main content

แอบิเกล ดิสนีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี, ลูกสาวของ ‘รอย อี. ดิสนีย์’ อดีตผู้บริหารเครือธุรกิจดิสนีย์ซึ่งดำรงตำแหน่งได้ยาวนานที่สุด และเป็นหลานสาวของ ‘วอลต์ ดิสนีย์’ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดิสนีย์ ธุรกิจบันเทิงรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เขียนบทความตีแผ่แวดวงมหาเศรษฐีในประเทศ ซึ่งมักจะสั่งสอนลูกหลานให้สืบทอดความมั่งคั่งของตระกูลต่อไป โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายต่างๆ และเปรียบความรวย “เหมือนสิ่งเสพติด” เพราะคนที่รวยก็อยากจะรวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในบทความ I Was Taught From a Young Age to Protect My Dynastic Wealth ที่เผยแพร่ลงเว็บไซต์ The Atlantic แอบิเกลได้อ้างอิง ‘เอกสารหลุด’ ของสรรพากรสหรัฐฯ ต้นเดือน มิ.ย.ที่บ่งชี้ว่าอภิมหาเศรษฐี (ultra-wealthy) เช่น อีลอน มัสก์, เจฟ เบซอส, วอร์เรน บัฟเฟต ไม่ได้เสียหรือแทบจะไม่เสียภาษีเงินได้ (federal income tax) ให้กับรัฐเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะพวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีด้วยวิธีการต่างๆ “ที่ถูกต้องตามกฎหมาย” 

ผู้นำข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผยคือ ProPublica องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนการรายงานข่าวเชิงสอบสวนซึ่งเครือข่ายสื่อมวลชนร่วมกันทำงาน และรายงานของโปรพับลิกาแจงว่าคนอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 25 อันดับแรกมีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ากว่า 4.01 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 12 ล้านล้านบาท) แต่พวกเขาได้จ่ายภาษีเงินได้ให้กับรัฐรวมกันเพียง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.08 แสนล้านบาท) ในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 คิดเป็น 3.4% ของทรัพย์สินรวมที่คนกลุ่มนี้มี ขณะที่พลเมืองอเมริกันทั่วไป ต้องจ่ายภาษีเงินได้ประมาณ 14-37% ของรายได้ต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่างกันมาก

เพราะรวยถึงได้รู้ว่า “ระบบไม่เป็นธรรม”

แนวคิดที่ตระกูลร่ำรวย-ตระกูลอภิมหาเศรษฐีพยายามสั่งสอนลูกหลาน คือ “รัฐบาลไว้ใจไม่ได้เรื่องเงินๆ ทองๆ” และแอบิเกลบอกว่าเธอเองก็ถูกสอนมาแบบนั้น ตั้งแต่วันที่ได้รับมรดกจากพ่อเมื่ออายุ 21 ปี จนกระทั่งตอนนี้ที่อายุได้ 61 ปีแล้ว เธอยังจำได้ว่าตัวเองถูกปลูกฝังให้ฟังคำแนะนำของผู้จัดการทรัสต์ในการบริหารทรัพย์สินและรักษาความมั่งคั่งให้คนของตระกูลรุ่นต่อไป แทนที่จะนำเงินไปจ่ายภาษีให้กับรัฐ 

วิธีเลี่ยงภาษีที่ทำกันส่วนใหญ่และทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย คือการขอลดหย่อนภาษีด้วยการรายงานหนี้สินที่เกิดจากกิจการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีปรับโครงสร้างสินทรัพย์จนดูเหมือนไม่มีรายได้ และในกรณีที่ต้องใช้เงินสดก็ใช้วิธีกู้โดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน คนรวยๆ จึงไม่ต้องจ่ายหรือแทบจะไม่จ่ายภาษีเงินได้ แต่ประชาชนอเมริกันทั่วไปที่มีรายได้ประจำแบบเดือนชนเดือนต้องจ่ายภาษีกันไปตามปกติ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดเป็นพิเศษ แอบิเกลจึงมองว่านี่คือช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้คนรวยได้ประโยชน์

"File:Abigail Disney 120613-N-LE393-021 (7369107672).jpg" by U.S. Naval War College is licensed under CC BY 2.0

แอบิเกลย้ำด้วยว่า คนในตระกูลของเธอ ทั้งพ่อ ปู่ และอา (วอลต์ ดิสนีย์) ล้วนเป็นคนจิตใจดี แต่การที่พวกเขาทำทุกๆ อย่างเพื่อรักษาความมั่งคั่งของตระกูล ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และการเลี่ยงภาษีถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ตระกูลร่ำรวยต่างๆ ทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติ และคนรวยเหล่านี้รักษาความมั่งคั่งของตัวเองได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเพราะได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านการเงินที่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน

นอกจากนี้แอบิเกลยังยอมรับว่า แม้แต่ตัวเธอเองก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะการมีเงินเท่ากับการมีสถานะทางสังคม ได้รับความสะดวกสบาย มีความมั่นคงในชีวิต และมีสิทธิพิเศษอีกหลายอย่าง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ตระหนักได้ว่าความมั่งคั่งของตัวเองกระทบต่อโครงสร้างสังคม และทำให้คนจำนวนมากไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการที่ควรมี ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย สิทธิในการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเสบียงอาหารของครอบครัว ก็ไม่สามารถเพิกเฉยกับสิ่งที่เป็นอยู่ได้

รายงานของโปรพับลิกาทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในหลายแวดวง โดยกรณี 'วอร์เรน บัฟเฟต' ซึ่งเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีที่สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม (wealth tax) กลับถูกเปิดโปงว่าหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีเสียเอง ขณะที่แอบิเกลเองก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Patriotic Millionaires ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ ที่เรียกตัวเองว่า “คนทรยศ” จากชนชั้นที่ตัวเองเติบโต และหันมามาสนับสนุนรัฐบาลให้ออกนโยบายเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม (wealth tax)

แม้จะมีวิกฤตโควิด แต่เศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้น 5.2 ล้านคนทั่วโลก

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่แอบิเกลเปิดประเด็นตีแผ่อภิมหาเศรษฐี ‘เครดิตสวิส’ ก็เผยแพร่รายงานดัชนีความมั่งคั่งโลก (Global Wealth Index หรือ GWI) ประจำปี 2563 พบว่าปีที่ผ่านมามีเศรษฐีใหม่ซึ่งมีทรัพย์สินรวมทั้งหมดเกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 30 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก มีจำนวนราว 5.2 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสวนทางกับคนอีกมากที่จนลงเพราะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 

รายงานระบุว่าหลายรัฐบาลมีมาตรการผ่อนผันด้านภาษีและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้มูลค่าหุ้นและที่ดินในบางพื้นที่พุ่งสูงขึ้น จึงมีผู้มั่งคั่งเพิ่มขึ้น แต่สภาวะเช่นนี้จะไม่ดำรงอยู่นาน เมื่อไหร่ที่ปรับนโยบายก็อาจทำให้คนเหล่านี้มั่งคั่งลดลง โดยประเทศที่มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

ส่วนผลสำรวจของนิตยสารฟอร์บสที่ถูกอ้างอิงในรายงาน GWI ระบุว่า อภิมหาเศรษฐี 1,000 คนทั่วโลก ซึ่งมีทรัพย์สินรวมถึง 30,000 ล้านบาทขึ้นไป มีหลายรายที่ “รวยน้อยลง” เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด โดยฟอร์บสระบุว่าอภิมหาเศรษฐีไทยที่ติดอยู่ในโผนี้รวมถึง 10 คนที่รวยที่สุดในประเทศ เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของเครือซีพี, ตระกูลอยู่วิทยา เครือกระทิงแดง, เจริญ สิริวัฒนภักดี เครือไทยเบฟ, ตระกูลจิราธิวัฒน์ เครือเซ็นทรัล, สารัชถ์ รัตนาวะดี เครือกัลฟ์ เอเนอร์จี