Skip to main content

หลายปีที่ผ่านมา คนรวยในจีนมักจะแสดงความร่ำรวยออกมาอย่างโจ่งแจ้ง มีการอวดรถหรูหรือกระเป๋าถือแสนแพงบนโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ผู้ติดตามอิจฉา แต่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจีน ทำให้การใช้ชีวิตแบบหรูหราฟู่ฟ่าไม่เป็นที่ชื่นชมในหมู่คนจีนอีกต่อไป ในช่วงหลังมานี้คนรวยคนดังทั้งหลายในจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะหลายคนมองว่าพวกเขาเป็นเพียงทายาทเศรษฐีที่ไม่เคยต้องดิ้นรนทำงานหนัก แต่กลับมีชีวิตที่หรูหรา

ซูหมาง อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารฮาร์เปอร์บาซาร์ของจีน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากเธอพูดในรายการเรียลลิตีว่าเงินเพียง 650 หยวน (ประมาณ 3,170 บาท) ไม่พอค่าอาหารสำหรับ 1 วัน “เราควรต้องกินดีกว่านี้ ฉันกินของมาตรฐานต่ำแบบนี้ไม่ได้หรอก” โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีนบางคนกล่าวว่า เงินค่าอาหารของพวกเขาน้อยกว่า 30 หยวน (ราว 145 บาท) ด้วยซ้ำ แต่ซูก็ออกมาชี้แจง “ความเข้าใจผิด” ว่า 650 หยวนหมายถึงค่าอาหารทั้งหมดของเธอสำหรับ 21 วันในรายการเรียลลิตี

ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีกรณีที่แอนนาเบล เหยา ลูกสาวของเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ที่ออกมาพูดว่า “ฉันไม่เคยทำตัวเป็น ‘เจ้าหญิง’... ฉันคิดว่าฉันก็เหมือนคนส่วนใหญ่ในวัยฉัน ฉันต้องทำงานหนัก เรียนหนัก กว่าจะได้เข้าโรงเรียนดีๆ” ในวิดีโอที่ประกาศว่าได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้อง โดยคลิปดังกล่าวของเธอยังระบุว่า การเซ็นสัญญากับค่ายเพลงเป็น ‘ของขวัญขวัญเกิดชิ้นพิเศษ’ ที่เธอมอบให้กับตัวเอง

ดร.เจียนซู จากมหาวิทยาลัยดีคิน ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมสื่อในจีนกล่าวว่า เมื่อเห็นดาราคนดัง หลายคนมักจะมองว่าคนเหล่านี้ทำงานง่ายๆ แล้วก็จะเปรียบเทียบกับตัวเองที่ทำงานหนัก แต่ได้ค่าแรงน้อย ขณะที่ ดร.หยู่ไห่ชิง อาจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัย RMIT ในเมลเบิร์นของออสเตรเลียกล่าวว่า คำพูดของซูทำให้คนโกรธ เพราะมันเป็นการเปิดโปงสิ่งที่จีนพยายามจะปกปิด นั่นคือ "บางคนมีมากจนเกินไป ขณะที่คนอื่นมีน้อยมาก"

คนรวยก็มีแต่รวยขึ้น คนจนก็ยังจนและไร้อำนาจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรอยู่ที่ 32,189 หยวน (ประมาณ 156,970 บาท) หรือคิดเป็นประมาณ 2,682 หยวน (ประมาณ 13,080 บาท) ต่อเดือน แต่ปักกิ่งกลับเป็นเมืองที่มีมหาเศรษฐีมากกว่าเมืองไหนในโลก โดยรายงานอันดับความร่ำรวยหูรุ่นระบุว่า ในปี 2563 เศรษฐีที่ติดอันดับของจีนมีรายได้ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (46.71 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของจีดีพีประเทศไทยทั้งประเทศ 

แม้ในหลายประเทศ การอวดทรัพย์สินของคนรวยจะถูกวิพาก์วิจารณ์อย่างหนักเป็นปกติ แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้นในจีน เพราะนับตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีจีนประกาศจะเปิดประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ทุกคนมั่งคั่ง แต่จะได้ถึงจุดนั้นได้ บางคนหรือบางพื้นที่จะรวยก่อนคนอื่น แต่เมื่อผ่านไป 40 ปี คนรวยก็มีแต่รวยขึ้น คนจนก็ยังจนและไร้อำนาจ ในช่วงหลังจึงมีคนรู้สึกโกรธแค้นคนรวยคนดังมากขึ้น และคาดหวังว่าคนดังและมีอำนาจเหล่านี้จะเสียสละเพื่อสังคมมากขึ้น หรือเป็นคนดีเป็นแบบอย่างสังคม ดังนั้น เมื่อเห็นดาราที่ทำผิดกฎหมายอย่าง จ้างอุ้มบุญหรือเลี่ยงภาษี พวกเขาก็จะยิ่งโกรธที่คนเหล่านี้ยังมีรายได้สูงทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนักเท่าคนอื่นแล้วยังไม่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคมด้วย

ดร.จอห์น ออสเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ ‘Anxious Wealth: Money and Morality Among China's New Rich’ กล่าวว่า เมื่อชนชั้นกลางในจีนเติบโตขึ้น คนเมืองที่มีการศึกษาตีความการอวดรวยว่าเป็นพวกไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีความรู้ หรือเป็น ‘ชนชั้นต่ำ’ มาก่อน เพราะมองว่าการอวดรวยเป็นสัญญาณของความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานะทางสังคมของตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ของแบรนด์หรูก็ยังไม่หมดไป ยูโรมอนิเตอร์ อินเทอร์แนชันนัล บริษัทวิจัยด้านการตลาดระบุว่า จีนแซงหน้าญี่ปุ่นในตลาดแบรนด์หรูในเอเชียแปซิฟิกไปแล้ว และภายในสิ้นปีนี้ ยอดขายก็มีแนวโน้มจะโตกลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด แต่โจทย์สำคัญก็คือการสร้างสมดุลระหว่างการแสดงออกถึงความสำเร็จแต่ไม่โอ้อวดเท่าที่ผ่านมา เช่น MengQiqi77 อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่มักถ่ายรูปอวดไลฟ์สไตล์หรูหรา ก็หันมา “บ่น” ว่าไม่ค่อยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในละแวกบ้าน จึง “ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากย้ายไปบ้านหลังใหญ่ขึ้นและมีโรงรถสำหรับ ‘เทสลา’ ของสามี”