Skip to main content

คนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องตกงาน แต่คนที่ยังมีงานทำจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกาอาจจะ ‘ลาออก’ ถ้านายจ้างเรียกร้องให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ

เว็บไซต์บลูมเบิร์กเผยผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันช่วงต้นเดือน มิ.ย.ระบุว่า การทำงานที่บ้าน (work from home) ช่วยประหยัดค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายรายวัน โดยบางรายระบุว่าปีที่ผ่านมาสามารถประหยัดค่าเดินทางไปได้เดือนละกว่า 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 15,000 บาท) ทั้งยังทำให้หลายคนใกล้ชิดครอบครัวมากขึ้น ทำให้ 39% ของผู้ตอบสอบถามระบุว่า "จะลาออก" ถ้าบริษัทให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด

การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมบ่งชี้ว่าเกือบครึ่งของชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามว่ายอมลาออกมากกว่าที่จะยอมกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นคนยุคมิลเลนเนียล (เจนวาย) และเจนซี ที่ช่วงอายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานจากที่บ้านได้เร็วกว่าคนที่มีอายุมากกว่า

ขณะที่ Flex Jobs เว็บไซต์จัดหางานในสหรัฐฯ จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นพนักงานที่ทำงานจากบ้านว่ามีความพึงพอใจหรือความไม่พึงพอใจอย่างไรบ้าง โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน 2,100 ช่วงเดือน เม.ย. พบว่าเกินครึ่งอยากจะทำงานที่บ้านต่อไปแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าประเทศพ้นจากภาวะวิกฤตโรคโควิดระบาดไปแล้ว เพราะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกับจำนวนประชากร

อย่างไรก็ตาม พนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปทำงานที่สำนักงานตามเดิม ทั้งยังมีการถกเถียงเพิ่มเติมว่าควรเปลี่ยนจากทำงาน 5 วันมาเป็น 3 วันต่อสัปดาห์แทน

โควิดเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอย่างสิ้นเชิง?

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลในสหรัฐฯ เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าจะปรับเปลี่ยนจำนวนวันทำงานเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป แต่ก็มีพนักงานบางส่วนไม่เห็นด้วยและเสนอให้ทำงานจากที่บ้านเหมือนที่เคยเป็นในช่วงโควิดแพร่ระบาด

ขณะที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 50 แห่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ได้แจ้งกับพนักงานของตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ แต่บางบริษัทในสหรัฐฯ ยังมองว่าการเข้าออฟฟิศทั้งห้าวันยังเป็นเรื่องจำเป็น

PwC บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาด้านธุรกิจการลงทุน ประเมินว่าบริษัทส่วนใหญ่จะประสบภาวะ “โควิดแฮงโอเวอร์” เพราะจะต้องรับภาระเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงบสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลของพนักงาน เช่น วัคซีนโควิด การลงทุนด้านระบบสื่อสารออนไลน์และดิจิทัลเพื่อให้พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่